บาลีวันละคำ

พระปิยมหาราช (บาลีวันละคำ 4,367)

พระปิยมหาราช

ปิย- ไม่ต้องมีสระ อะ

อ่านว่า พฺระ-ปิ-ยะ-มะ-หา-ราด

ประกอบด้วยคำว่า พระ + ปิย + มหาราช

(๑) “พระ” 

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ดังนี้ –

(๑) น. ( = คำนาม) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ

(๒) น. พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ

(๓) น. นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน

(๔) น. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง 

       ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ 

       ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ 

       ๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี 

       ๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์ 

       ๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ

(๕) น. อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา

(๖) น. บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๗) น. โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.

(๘) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (สรรพนาม) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).

ในที่นี้คำว่า “พระ” ใช้ตามความหมายในข้อ (๔) ๒. 

(๒) “ปิย” 

อ่านว่า ปิ-ยะ รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = รักใคร่, ชอบใจ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อี ที่ ปี เป็น อิ (ปี > ปิ)  

: ปี + ณฺย = ปีณฺย > ปีย > ปิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลพึงรักใคร่” “สิ่งที่ควรรักชอบ

ปิย” ในบาลีมีความหมายว่า –

(1) ที่รัก, ผู้เป็นที่รัก (dear, beloved)

(2) น่าพึงพอใจ, คบได้, เป็นที่ชอบ (pleasant, agreeable, liked)

(๓) “มหาราช” 

อ่านว่า มะ-หา-ราด ประกอบด้วย มหา + ราช

(ก) “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable) 

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).” 

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –ราช เปลี่ยนรูปเป็น “มหา-” 

(ข) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: ราชฺ + = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา 

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คำนี้มักใช้ประกอบกับคำอื่น, ถ้าคำเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

มหนฺต + ราช = มหนฺตราช > มหาราช แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” (great king) 

มหาราช” บาลีอ่านว่า มะ-หา-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า มะ-หา-ราด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหาราช : (คำนาม) คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์; ชื่อธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เรียกว่า ธงมหาราช; ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ.”

การประสมคำ :

ปิย + มหาราช = ปิยมหาราช แปลว่า “มหาราชผู้เป็นที่รัก” 

พระ + ปิยมหาราช = พระปิยมหาราช แปลว่า “พระมหาราชผู้เป็นที่รัก” 

อภิปรายขยายความ :

หลักข้อหนึ่งในการเขียนคำสมาสสนธิในภาษาไทยก็คือ เสียง อะ กลางคำไม่ต้องประวิสรรชนีย์

“ไม่ต้องประวิสรรชนีย์” พูดคำธรรมดาว่า ไม่ต้องมีสระ อะ

เช่น “สาธารณสุข” 

สาธารณ” อ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ ถ้าใช้คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำ เขียนเป็น “สาธารณะ” ประวิสรรชนีย์ที่ –

ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นสมาสกับ “สุข” อ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ-สุก เขียนเป็น “สาธารณสุข” ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ – คือไม่ใช่ “สาธารณะสุข”

ปิย” อ่านว่า ปิ-ยะ ถ้าใช้คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำ เขียนเป็น “ปิยะ” ประวิสรรชนีย์ที่ –

ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นสมาสกับ “มหาราช” อ่านว่า ปิ-ยะ-มะ-หา-ราด เขียนเป็น “ปิยมหาราช” ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ – คือไม่ใช่ “ปิยะมหาราช

จะเห็นว่า หลักดังกล่าวมานี้ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย จำง่าย ใช้กับคำสมาสสนธิได้ทั่วไป

ขอเพียงอย่ามักง่าย ใส่สระ อะ หรือประวิสรรชนีย์กลางคำแล้วอ้างว่า เขียนตามความเคยชินหรือเคยมือ

แถม : จารึกฐานพระบรมรูปทรงม้า

พระบรมราชานุสาวรีย์อันประดิษฐานบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม คนทั้งหลายเรียกกันว่า “พระบรมรูปทรงม้า” ต่อมา ทางราชการกำหนดให้เรียกว่า “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ที่ฐานด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์มีแผ่นโลหะจารึกข้อความ 33 บรรทัด เป็นข้อความที่ควรแก่การศึกษา ขอนำมาบันทึกไว้ในบาลีวันละคำวันนี้เพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงอีกแห่งหนึ่ง ให้เป็นที่รู้ทั่วกันว่า ถ้าต้องการรู้ข้อความจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ สามารถหาดูได้ที่บาลีวันละคำนี้อีกแห่งหนึ่ง

ข้อความที่จารึกเป็นดังนี้ (อักขรวิธีตามที่ปรากฏในจารึก ตัวเลขข้างหน้าคือลำดับบรรทัด) –

…………..

๑. ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๒๔๕๑ พรรษา

๒. จำเดิมแต่พระมหาจักรกรีบรมราชวงษ์ได้เสด็จประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา

๓. เป็นปีที่ ๑๒๗ โดยนิยม

๔. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์

๕. บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตรวรขัติยราชนิกโรดม

๖. จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร

๗. พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๘. เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมา ถ้วนถึง ๔๐ ปีเต็มบริบูรณ์

๙. เปนรัชสมัย ที่ยืนนานยิ่งกว่าสมเด็จพระมหาราชาธิราช

๑๐. แห่งสยามประเทศในอดีตกาล

๑๑. พระองค์กอปรด้วยพระราชกฤษดาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร

๑๒. เสด็จสถิตย์ในสัจธรรม์อันมั่นคงมิได้หวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤไทย ในทางที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร

๑๓. ให้สถิตย์สถาพร แลให้เกิดความสามัคคีสดมสรเจริญศุขสำราญทั่วไปในอเนกนิกรประชาชาติเป็นเบื้องน่าแห่ง

๑๔. พระราชจรรยา ทรงพระสุขุมปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัยในคุณโทษแห่งประเพณีเมืองทรงปลดเปลื้องโทษ

๑๕. นำประโยชน์มาบัญญัติ โดยปฏิบัติพระองค์ทรงนำหน้าชักจูงประชาชนให้ดำเนินตาม ในทางที่ดีงามดีมีประโยชน์

๑๖. เปนแก่นสาร พระองค์ทรงทำให้ความศุขสำราญแห่งประชาราษฎร์สำเร็จได้ ด้วยอาไศรยดำเนินอยู่เนืองนิตย์ ใน

๑๗. พระวิริยแลพระขันตีอันคุณแรงกล้า ทรงอาจหาญในพระราชจรรยามิได้ย่อท้อต่อความยากลำบากยากเข็ญ มิได้เห็น

๑๘. ที่ขัดข้องอันใดเปนข้อควรขยาด แม้ประโยชน์แลความสุขในส่วนพระองค์ ก็อาจทรงสละแลกความสุขสำราญ

๑๙. พระราชทานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ โดยทรงกรุณาปรานี พระองค์คือบุพการีของราษฎรเพราะเหตุเหล่านี้ แผ่นดิน

๒๐. ของพระองค์ จึ่งยงยิ่งด้วยความสถาพรรุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความศุขเกษมล่วงล้ำอดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา

๒๑. พระองค์จึ่งเปนปิยมหาราชที่รักของมหาชนทั่วไป

๒๒. ครั้งบรรลุอภิลักขิตสมัยรัชมังคลาภิเศกสัมพัจฉรกาล

๒๓. พระราชวงษานุวงษเสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมด้วยสมณพราหมณอาณาประชาชน

๒๔. ชาวสยามประเทศทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ทั่วรัฐสีมาอาณาเขตร

๒๕. มาคำนึงถึงพระเดชพระคุณอันได้พรรณามาแล้วนั้น จึ่งพร้อมกันสร้างพระบรมรูปนี้

๒๖. ประดิษฐานไว้สนองพระเดชพระคุณ เพื่อประกาศพระเกียรติยศ

๒๗. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์

๒๘. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒๙. ปิยมหาราช

๓๐. ไห้ปรากฏสืบชั่วกัลปาวสาน

๓๑. เมื่อสุริยคติกาล พฤศจิกายนมาศ เอกาทศดิถี พุฒวาร จันทรคติกาล กฤติกมาศกาฬปักษ์ ตติยดิถี ในปีวอก สัมฤทธิศก

๓๒. จุลศักราช ๑๒๗๐

๓๓. ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

…………..

ผู้อ่านจารึก: ประสาร บุญประคอง (พ.ศ. 2521)

ผู้ตรวจ: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2521)

ที่มา: https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/26356

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าอ้างว่าหลงลืมหรือเคยมือ

: แม้ขณะเขียนหนังสือก็เจริญสติได้

#บาลีวันละคำ (4,367)

27-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *