บาลีวันละคำ

อธิกาโร (บาลีวันละคำ 4,368)

อธิกาโร

หนึ่งในตัวชี้วัดความเป็นพระโพธิสัตว์

อ่านว่า อะ-ทิ-กาโร

อธิกาโร” รูปคำเดิมเป็น “อธิการ” อ่านว่า อะ-ทิ-การะ ประกอบด้วย อธิ + การ

(๑) “อธิ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

(1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

(2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(๒) “การ

บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” 

การ” ถ้าใช้ตามลำพัง มีความหมายดังนี้ –

(1) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(2) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

การ” ถ้าใช้ต่อท้ายคำอื่น มีความหมายแตกต่างกันไปตามคำนั้น ๆ เช่น –

อหํการ = อหังการ “กระทำว่าเรา” = มองเห็นแต่ตนเอง (selfishness)

อนฺธการ = อันธการ “กระทำความมืด” = ความมืด (darkness)

สกฺการ = สักการ = การสักการะ, เครื่องสักการะ (homage)

พลกฺการ = พลการ = การใช้กำลัง (forcibleness, forcefulness)

การ” ยังเป็นชื่อเฉพาะทางไวยากรณ์ หมายถึง นิบาต, อักษร, เสียงหรือคำ เช่น ม-การ (มะ-กา-ระ) = อักษร ม

อธิ + การ = อธิการ บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ ไทยอ่านว่า อะ-ทิ-กาน แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันยิ่ง” หมายถึง การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ (attendance, service, administration, supervision, management, help)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “อธิการ” ไว้ว่า –

1. “ตัวการ”, ตัวทำการ, เจ้าการ, เจ้ากรณี, เจ้าของเรื่อง, เรื่องหรือกรณีที่กำลังพิจารณา, เรื่องที่เกี่ยวข้อง, เรื่องที่เป็นข้อสำคัญ หรือที่เป็นข้อพิจารณา, ส่วนหรือตอนที่ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ เช่น “ในอธิการนี้” หมายความว่า ในเรื่องนี้ หรือในตอนนี้ 

2. “การอันยิ่ง” 

๑) การทำความดีที่ยิ่งใหญ่หรืออย่างพิเศษ, บุญหรือคุณความดีสำคัญที่ได้บำเพ็ญมา, ความประพฤติปฏิบัติที่เคยประกอบไว้ หรือการอันได้บำเพ็ญมาแต่กาลก่อน หรือที่ได้สั่งสมตระเตรียมเป็นทุนไว้ เช่น “พระเถระนั้น เป็นผู้มีอธิการอันได้ทำไว้ ในสมถะและวิปัสสนา” 

๒) การอันสำคัญหรือที่ทำอย่างจริงจัง อันเป็นการแสดงความเคารพรักนับถือหรือเกื้อกูลตลอดจนโปรดปราน เช่น การบูชา การช่วยเหลือที่สำคัญ การทำความดีความชอบ การให้รางวัล 

3. “การทำให้เกิน”, “การทำให้เพิ่มขึ้น”, การเติมคำหรือข้อความที่ละไว้ หรือใส่เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ได้ความหมายครบถ้วน, คำหรือข้อความที่เติมหรือใส่เพิ่มเข้ามาเช่นนั้น, คำหรือข้อความที่จะต้องนำไปเติมหรือใส่เพิ่มในที่นั้นๆ เพื่อให้เข้าใจความหมาย หรือได้กฎเกณฑ์ที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน 

4. อำนาจ, ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ มีธรรมเนียมเรียกเจ้าอาวาสที่ไม่เป็นเปรียญและไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ และเรียกเจ้าคณะตำบลหรือพระอุปัชฌาย์ ที่ไม่เป็นเปรียญและไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ, ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความในวรรคสุดท้ายของมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ว่า “อนึ่ง เจ้าอาวาสทั้งปวงนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ก็ให้มีสมณศักดิ์เป็นอธิการ” ซึ่งมีเชิงอรรถใต้มาตรา อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กำกับไว้ด้วยว่า “(๑๕) เจ้าอาวาสเป็นพระอธิการ รองแขวงที่เรียกอีกโวหารหนึ่งว่าเจ้าคณะหมวด เป็นเจ้าอธิการ ในบัดนี้พระอุปัชฌายะก็เป็นเจ้าอธิการเหมือนกัน”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิการ : (คำนาม) อำนาจ, การปกครอง, ความบังคับบัญชา; ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ; สิทธิ, ความชอบธรรม; เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดํารงตําแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตําบล ซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ; ตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย. (ป., ส.).”

อธิการ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อธิกาโร” 

ขยายความ :

อธิกาโร” เป็น 1 ในคุณสมบัติ 8 ประการ (อัฏฐธัมมสโมธาน = การประชุมพร้อมแห่งธรรมแปดประการ) ของผู้ที่จะได้นามว่าเป็น “โพธิสัตว์” 

อัฐธรรมสโมธาน” 8 ประการ ดังคำบาลีต่อไปนี้ –

…………..

เขียนแบบบาลี :

มนุสฺสตฺตํ  ลิงฺคสมฺปตฺติ 

เหตุ  สตฺถารทสฺสนํ

ปพฺพชฺชา  คุณสมฺปตฺติ 

อธิกาโร จ  ฉนฺทตา

อฏฺฐธมฺมสโมธานา 

อภินีหาโร  สมิชฺฌติ.

เขียนแบบคำอ่าน :

มะนุสสัตตัง  ลิงคะสัมปัตติ 

เหตุ (เห-ตุ) สัตถาระทัสสะนัง

ปัพพัชชา  คุณะสัมปัตติ 

อะธิกาโร จะ  ฉันทะตา

อัฏฺฐะธัมมะสะโมธานา 

อะภินีหาโร  สะมิชฌะติ.

ถอดความว่า การจะได้เป็น “โพธิสัตว์” ต้องตั้งความปรารถนา โดยมีคุณสมบัติ 8 ประการ ดังนี้ –

(1) เมื่อตั้งความปรารถนา ต้องเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ)

(2) เป็นเพศชาย (ลิงฺคสมฺปตฺติ)

(3) สามารถจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั้น (เหตุ

(4) ได้พบพระพุทธเจ้าและได้รับพยากรณ์ว่าจะสำเร็จ (สตฺถารทสฺสนํ)

(5) ในขณะที่ตั้งความปรารถนา กำลังอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ (ปพฺพชฺชา

(6) สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว (คุณสมฺปตฺติ)

(7) ประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต (อธิกาโร)

(8 ) ปรารถนาพุทธภูมิ คือพอใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ถอยกลับ (ฉนฺทตา)

…………..

ตามคุณสมบัติที่ท่านแสดงไว้นี้ จะเห็นได้ว่า การเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่เพียงแค่มีศรัทธานึกอยากจะเป็นก็ตั้งใจเป็นได้ทันที 

…………..

ข้อ (7) “อธิกาโร” ท่านขยายความไว้ว่า –

…………..

อธิกาโรติ  อธิกกาโร  ปริจฺจาโคติ  อตฺโถ  ฯ

คำว่า อธิกาโร หมายถึง การการทำอันยิ่ง คือการสละชีวิต

ชีวิตาทิปริจฺจาคญฺหิ  กตฺวา  ปณิทหโตเยว  อิชฺฌติ  โน  อิตรสฺส  ยถา  สุเมธปณฺฑิตสฺส  ฯ

จริงอยู่ การตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้สละชีวิตเป็นต้นแล้วตั้งปณิธานไว้ เหมือนสำเร็จแก่สุเมธบัณฑิตฉะนั้น หาสำเร็จแก่บุคคลที่ไม่ได้สละชีวิตเช่นนั้นไม่

ที่มา: ปรมัตถโชติกา อรรถกถาสุตตนิบาต ภาค 1 หน้า 66

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บุรุษทั่วไป ความตายน่ากลัวที่สุด

: แต่มหาบุรุษกลัวงานไม่สำเร็จยิ่งกว่ากลัวตาย

#บาลีวันละคำ (4,368)

28-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *