บาลีวันละคำ

บุตรและธิดา (บาลีวันละคำ 4,369)

บุตรและธิดา

ไม่ต้อง “บุตรชายและธิดา”

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นท่านผู้หนึ่งใช้คำว่า “บุตรชายและธิดา” เห็นว่าควรนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ

คำว่า “บุตร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บุตร, บุตร– : (คำนาม) ลูก, ลูกชาย. (ส. ปุตฺร; ป. ปุตฺต).”

แม้พจนานุกรมฯ จะบอกความหมายว่า “ลูก” อันเป็นคำกลาง ๆ ไม่ได้ระบุว่าชายหรือหญิง ซึ่งชวนให้เติมเป็น “บุตรชาย” ได้ แต่เมื่อมีคำว่า “ธิดา” ซึ่งหมายถึง “ลูกสาว” ควบคู่กันมา คำว่า “บุตร” ก็ย่อมหมายถึง “ลูกชาย” อยู่ในตัว จึงไม่จำเป็นจะต้องพูดว่า “บุตรชาย”

อนึ่ง ภาษาไทย เมื่อใช้คำว่า “บุตร” หมายถึง “ลูก” เป็นคำกลาง ๆ เมื่อจะระบุเพศ ลูกชาย ระบุลงไปว่า “บุตรชาย” แต่พอถึงลูกสาว มักระบุว่า “บุตรสาว” ซึ่งเป็นคำผิดชุดกัน

“สาว” ต้องคู่กับ “หนุ่ม”

เหมือน “ชาย” คู่กับ “หญิง”

เพราะฉะนั้น ใช้ “บุตรชาย” เมื่อหมายถึงลูกชาย ก็ต้องใช้ “บุตรหญิง” เมื่อหมายถึงลูกสาว แต่ก็ไม่เคยเห็นใครใช้ “บุตรหญิง” เคยเห็นแต่ “บุตรสาว” 

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราใช้ “ลูกชาย” คู่กับ “ลูกสาว” ไม่ใช่ “ลูกหญิง”

ถ้าลูกสาวใช้ว่า “ลูกสาว” ลูกชายก็ควรใช้ว่า “ลูกหนุ่ม” เพราะ “สาว” คู่กับ “หนุ่ม”

ลูกชาย-ลูกหญิง

ลูกหนุ่ม-ลูกสาว

ควรจับคู่กันแบบนี้

แต่นี่กลายเป็น ลูกชาย-ลูกสาว

“ลูกหญิง” (คำคู่กับ “ลูกชาย”) พอจะมีพูดกันบ้าง

แต่ “ลูกหนุ่ม” (คำคู่กับ “ลูกสาว”) ไม่มีใครพูดเลย

อย่างไรก็ตาม คำที่หมายถึง “ลูกสาว” มีผู้ใช้ว่า “บุตรี” ก็มี ก็คือแปลงรูปมาจาก “บุตร” ที่หมายถึง “ลูกชาย” นั่นเอง พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

บุตรี : (คำนาม) ลูกผู้หญิง. (ส. ปุตฺรี).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บุตรี” สันสกฤตเป็น “ปุตฺรี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ปุตฺรี : (คำนาม) ‘บุตรี,’ ลูกหญิง, ลูกสาว; a daughter.”

ในบาลีมีคำว่า “ราชปุตฺตี” ใช้เรียกหญิงที่เกิดในราชสกุล เช่นพระนางมัทรีเป็นต้น แต่โดยทั่วไป เมื่อใช้เรียก “ลูกสาว” ที่คู่กับ “ปุตฺต” ที่หมายถึง “ลูกชาย” นิยมใช้คำว่า “ธีตุ” หรือ “ธีตา” ยังไม่พบที่ใช้เป็น “ปุตฺตี” 

สรุปว่า เมื่อพูดถึงลูกชายและลูกสาวใช้คำบาลีเพียง “บุตรและธิดา” หรือ “บุตรธิดา” เท่านั้นพอ ไม่ต้อง “บุตรชายและธิดา” เพราะถ้ามีคำว่า “ชาย” ขยาย “บุตร” เดี๋ยวก็จะต้องมีคำว่า “หญิง” ขยาย “ธิดา” เป็น “บุตรชายธิดาหญิง” กลายเป็นคำรุงรังโดยไม่จำเป็น

ยิ่งถ้าเป็นคำบาลี ใช้คำว่า “ปุตฺต” คำเดียว หมายถึงเฉพาะลูกชาย พูดถึงลูกสาวก็ใช้คำว่า “ธีตุ” หมายถึงเฉพาะลูกสาว รูปศัพท์แยกกันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องมีคำขยายบอกเพศใด ๆ อีก

ต่อไปก็ศึกษาหาความรู้ที่มาของศัพท์ “บุตร” และ “ธิดา

(๑) “บุตร

บาลีเป็น “ปุตฺต” อ่านว่า ปุด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)

: ปู + ตฺ + = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)

(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)

: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ 

: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู” 

ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลูกชาย (a son) 

(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)

บาลี “ปุตฺต” สันสกฤตเป็น “ปุตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปุตฺร : (คำนาม) ‘บุตร์,’ ลูกชาย; เด็ก; นักษัตร์ที่ห้าจากโยคทิศของพระอาทิตย์ และราศีหนึ่ง; ลูกหญิง; (คำใช้ในทวิพจน์) ลูกชายและหญิง; a son; a child; the fifth mansion from the point of conjunction of the sun and a zodiacal sign; a daughter; (in the dual number) a son and a daughter.”

(๒) “ธิดา

บาลีเป็น “ธีตา” ศัพท์เดิมเป็น “ธีตุ” อ่านว่า ที-ตุ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ริตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ที่ ริตุ ปัจจัย (ริตุ > อิตุ), ทีฆะ อิ ที่ ( + อิ = ) ธิ เป็น อี (ธิ > ธี)

: ธรฺ + ริตุ = ธรริตุ > ธริตุ > ธิตุ > ธีตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาคอยทรงไว้” (คือดูแลรักษาไว้)

ธีตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) แปลง อุ ที่ (ธี)-ตุ เป็น อา = ธีตา ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธิดา” คือ ลูกสาว (a daughter)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ธิดา : (คำนาม) ลูกหญิง. (ป., ส. ธีตา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ธิดา” สันสกฤตเป็น “ธีตา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “ธีตา” ไว้ แต่มีคำว่า “ธีลฏี” บอกไว้ดังนี้ –

ธีลฏี : (คำนาม) สุดา, บุตรี; a daughter.”

ปุตฺต + ธีตุ = ปุตฺตธีตุ (ปุด-ตะ-ที-ตุ) แปลว่า “บุตรและธิดา

ปุตฺตธีตุ” ในบาลีถ้าแจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ (2 คนขึ้นไป โดยปกติต้องเป็นพหุวจนะ) เปลี่ยนรูปเป็น “ปุตฺตธีตโร” (ปุด-ตะ-ที-ตะ-โร) แปลว่า “บุตรและธิดาทั้งหลาย” คืออย่างน้อยต้องเป็นบุตร 1 คน และธิดา 1 คนขึ้นไป จะรวมกันกี่คนก็อยู่ในคำว่า “ปุตฺตธีตโร” คำเดียว

ปุตฺตธีตุ > ปุตฺตธีตโร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุตรธิดา” (คือ บุตร + ธิดา

ในภาษาบาลี ถ้ากล่าวถึง “ปุตฺต” หรือ “บุตร” เป็นกลาง ๆ ย่อมรวม “ธิดา” ไว้ด้วยโดยปริยาย เหมือนคำไทยว่า “ลูก” คำเดียวย่อมหมายถึงทั้งลูกชายและลูกสาว

…………..

ในคัมภีร์ท่านแบ่ง “บุตร” (รวม “ธิดา” ไว้ด้วย) ตามคุณภาพไว้ 3 ประเภท 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [90] แสดงบุตรทั้ง 3 ประเภทไว้ดังนี้ – 

บุตร 3 : (Putta: son; child; descendant)

1. อติชาตบุตร (บุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดา, ลูกที่ดีกว่าเลิศกว่าพ่อแม่ — Atijāta-putta: superior-born son)

2. อนุชาตบุตร (บุตรที่ตามเยี่ยงบิดามารดา, ลูกที่เสมอด้วยพ่อแม่ — Anujāta-putta: likeborn son)

3. อวชาตบุตร (บุตรที่ต่ำลงกว่าบิดามารดา, ลูกที่ทราม — Avajāta-putta: inferior-born son)

บุตรประเภทที่ 1 นั้น เรียกอีกอย่างว่า อภิชาตบุต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เลือกเกิดไม่ได้

: แต่เลือกเป็นได้

#บาลีวันละคำ (4,369)

29-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *