บาลีวันละคำ

ธรณีสงฆ์ (บาลีวันละคำ 1,006)

ธรณีสงฆ์

อ่านว่า ทอ-ระ-นี-สง

ประกอบด้วย ธรณี + สงฆ์ 

(๑) “ธรณี

บาลีอ่านว่า ทะ-ระ-นี มีรากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, รองรับ) + ณี ปัจจัย หรือ ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น , ลง อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(1): ธรฺ + ณี = ธรณี

(2): ธรฺ + ยุ > อน > อณ = ธรณ + อี = ธรณี

ธรณี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รองรับสัตว์โลกทั้งปวงไว้” หมายถึง แผ่นดิน (the Earth)

(๒) “สงฆ์

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ, สะกดเป็น “สํฆ” ก็มี)

สงฺฆ” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ( = อริยสงฆ์)

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ( = สมมุติสงฆ์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “สงฆ์” ในภาษาไทย ไว้ดังนี้ :

(1) ภิกษุ เช่น ของสงฆ์ พิธีสงฆ์, บางทีก็ใช้ควบกับคํา พระ หรือ ภิกษุ เป็น พระสงฆ์ หรือ ภิกษุสงฆ์ เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ มีภิกษุสงฆ์มารับบิณฑบาตมาก, ลักษณนามว่า รูป หรือ องค์ เช่น ภิกษุสงฆ์ ๒ รูป พระสงฆ์ ๔ องค์.

(2) ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทําสังฆกรรม แต่จํานวนภิกษุที่เข้าร่วมสังฆกรรมแต่ละอย่างไม่เท่ากัน คือในสังฆกรรมทั่ว ๆ ไป เช่น ในการสวดพิธีธรรม สวดอภิธัมมัตถสังคหะ ประกอบด้วยภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า สงฆ์จตุรวรรค ในการรับกฐิน สวดพระปาติโมกข์ ปวารณากรรม และอุปสมบทในถิ่นที่ขาดแคลนภิกษุ ต้องประกอบด้วยภิกษุ ๕ รูป เรียกว่า สงฆ์ปัญจวรรค ในการอุปสมบทในถิ่นที่มีภิกษุมาก ต้องประกอบด้วยภิกษุ ๑๐ รูป เรียกว่า สงฆ์ทสวรรค และในการสวดอัพภานระงับอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประกอบด้วยภิกษุ ๒๐ รูป เรียกว่า สงฆ์วีสติวรรค, ภิกษุที่เข้าร่วมสังฆกรรมดังกล่าว ถ้ามากกว่าจํานวนที่กําหนดจึงจะใช้ได้ ถ้าขาดจํานวนใช้ไม่ได้.

ธรณี + สงฆ์ = ธรณีสงฆ์ แปลว่า “แผ่นดินของสงฆ์” หมายถึง ที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของวัด

คำว่า “ธรณีสงฆ์” ตามความหมายนี้เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง ถ้าประกอบรูปคำแบบบาลีควรเป็น “สงฺฆธรณี” (สัง-คะ-ทะ-ระ-นี) > สังฆธรณี (สัง-คะ-ทอ-ระ-นี)

ข้อควรรู้เบื้องต้นคือ ที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของวัดมี 2 อย่าง :

๑ ที่ดินซึ่งเป็นอาณาเขตที่วัดตั้งอยู่ เรียกว่า “ที่ตั้งวัด

๒ ที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของวัดนอกจากที่ตั้งวัด เรียกว่า “ที่ธรณีสงฆ์

ที่ธรณีสงฆ์นั้นจะใช้เพื่อการใด ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้

ที่ดินซึ่งมักจะเอ่ยถึงคู่ไปกับที่ธรณีสงฆ์คือ “ที่กัลปนา” (ดู “กัลปนา”)

คติของคนเก่า :

“ของสงฆ์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใครไม่สุจริต ทำกินไม่ขึ้น”

18-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย