บาลีวันละคำ

ตถตา [2] (บาลีวันละคำ 4,604)

ตถตา [2]

ลงมือแก้ปัญหาแล้วหรือยัง

อ่านว่า ตะ-ถะ-ตา

แยกศัพท์ตามที่ตาเห็นเป็น ตถ + ตา

(๑) “ตถ” 

อ่านว่า ตะ-ถะ

รากศัพท์มาจาก ตถฺ (ธาตุ = จริง, แท้) + (อะ) ปัจจัย

: ตถ + = ตถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จริงแท้” หมายถึง แท้, จริง; โดยแท้, ไม่มุสา (true, real; in truth, truthful)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตถ” ว่า [being] in truth, truthful; true, real ([เป็น] โดยแท้, ไม่มุสา; แท้, จริง) 

ตถะ” ที่นักเรียนบาลีคุ้นกันดีคือ “ตถา” เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า อย่างนั้น ฉันนั้น มีรากศัพท์มาทางเดียวกับ “ตถะ” นี่เช่นกัน

ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนว่าเป็น “ตถะ” มี 4 อย่าง คืออริยสัจสี่ ตามคำที่ท่านว่า –

(1) ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นของจริงแท้

(2) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นของจริงแท้

(3) นิโรธ ความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้

(4) มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้

(๒) “ตา” 

เป็นปัจจัยตัวหนึ่งในภาวตัทธิต (ตัทธิต เป็นแขนงหนึ่งของบาลีไวยากรณ์ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้ปัจจัยต่อท้ายแล้วมีความหมายต่าง ๆ กันไป)

ภาวตัทธิต” (พา-วะ-ตัด-ทิด) คือศัพท์ที่ลงปัจจัยจำพวกหนึ่งแล้วแปลว่า “ความเป็น–” เช่น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) = “ความเป็นแห่งธรรม” ที่เราเอามาใช้ว่า “ธรรมดา

ปัจจัยในภาวตัทธิตตามตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีของไทยเรียนกันอยู่มี 6 ตัว คือ ตต, ณฺย, ตตน, ตา, , กณฺ (ตะตะ, ณ๎ยะ, ตะตะนะ, ตา, ณะ, กะณะ)

ตา” เป็น 1 ในปัจจัยทั้ง 6

ตถ + ตา = ตถตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งสิ่งที่จริงแท้” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตถตา” ว่า state of being such, such-likeness, similarity, correspondence

พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ (ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ) แปลเป็นไทยว่า ความเป็นเช่นนั้น, การเป็นเช่นเดียวกันนั้น, ความเป็นจริง, ความเป็นไปตามส่วน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ตถตา” ไว้ดังนี้ –

…………..

ตถตา : ความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นเช่นนั้น, ภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมันอย่างนั้นเอง คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย (มิใช่เป็นไปตามความอ้อนวอนปรารถนา หรือการดลบันดาลของใคร ๆ) เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกฎ ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา

…………..

ขยายความ :

ตถตา” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ ผู้รู้ทางธรรมนำมาใช้อธิบายสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เรียกกันติดปากว่า “ตถตา” แปลสั้น ๆ ว่า “เป็นเช่นนั้นเอง

คำในชุดเดียวกับ “ตถตา” มีอีก 3 คำ คือ –

อวิตถตา (อะ-วิ-ตะ-ถะ-ตา) = ความไม่แปรผัน

อนัญญถตา (อะ-นัน-ยะ-ถะ-ตา) = ความไม่เป็นอย่างอื่น

อิทัปปัจจยตา (อิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา) = ความมีสิ่งนี้เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย

จะเอ่ยถึงคำไหนก็มีความหมายไปในทางเดียวกัน แต่เรามักได้ยินกันเฉพาะ “ตถตา” กับ “อิทัปปัจจยตา” อีกคำหนึ่ง ส่วน “อวิตถตา” และ “อนัญญถตา” ไม่มีใครเอ่ยถึง เอ่ยขึ้นมาก็ไม่มีใครรู้จักทั้ง ๆ ที่เป็นคำในชุดเดียวกัน

หลักคิดของคำในชุดนี้ก็คือ สภาวะใด ๆ สิ่งใด ๆ ที่เราเห็นว่ามันเป็นไปอย่างนั้น ๆ ให้เข้าใจเถิดว่า มันจะต้องเป็นเช่นนั้นเอง เพราะมีเหตุตามธรรมชาติธรรมดาที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนั้น ท่านสอนให้ตั้งหลักคิดให้ถูกต้องเช่นนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องสงสัยวุ่นวายไปว่า ทำไมมันจะต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมมันจึงไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการให้มันเป็น หรือเที่ยวสันนิษฐานคาดเดาว่ามีใครหรืออะไรมาบันดาลให้มันเป็นเช่นนั้น นั่นคือสอนให้เข้าใจและรู้ทันตามความเป็นจริง

การยกเอาคำในชุดนี้มาอ้าง มักจะมีจุดผิดพลาดที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ผู้ยกเอาคำมาอ้างมักจะเข้าใจไปว่า เมื่ออ้างเช่นนี้แล้วก็เป็นอันจบเรื่อง เหมือนกับว่าได้ตอบปัญหาหรือแก้ปัญหาเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องทำอะไรกับเรื่องนั้นอีกต่อไป 

การเข้าใจอย่างนี้นับว่าผิดพลาดอย่างยิ่ง

การเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นอย่างหนึ่ง

การปฏิบัติต่อเรื่องนั้นหรือการลงมือแก้ปัญหาตามเหตุที่ควรทำควรแก้ เป็นอีกอย่างหนึ่ง

เช่นความจริงที่ว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย

ความจริงที่ว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องตายนี้ เป็นเรื่องที่ต้องรับรู้และยอมรับตามความเป็นจริง จะได้ไม่ดิ้นรนวุ่นวายทำสิ่งที่ฝืนความจริง

แต่ก็ไม่ใช่ว่า เมื่อรู้ความจริงและยอมรับความจริงว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องตาย-เช่นนี้แล้ว ก็นั่งนอนรอความตายอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร อย่างนี้คือปฏิบัติผิด 

ในระหว่างที่ยังไม่ตายหรือยังไม่ถึงเวลาตาย อะไรที่ควรทำ-เช่นการหาเลี้ยงชีพ เมื่อเกิดเจ็บป่วยก็รักษาพยาบาล เป็นต้น-ก็ต้องทำไปด้วย

การเห็นปัญหาแล้วพูดบอกออกมาว่า “ตถตา” ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงขั้นการยอมรับว่ามีปัญหาเท่านั้น

เมื่อพูดบอกออกมาว่า “ตถตา” แล้ว ต้องลงมือทำอะไรต่อไปอีกด้วย จึงจะนับว่าเป็นการลงมือแก้ปัญหา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รับรู้ปัญหา เป็นเรื่องดี

: ลงมือแก้ปัญหา เป็นเรื่องดีมาก

: แก้ปัญหาจนสำเร็จ เป็นเรื่องดีที่สุด

#บาลีวันละคำ (4,604)

19-1-68

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *