วัจมรรค (บาลีวันละคำ 4,372)
วัจมรรค
หนึ่งในทางที่ทำให้ศีลขาด
อ่านว่า วัด-จะ-มัก
ประกอบด้วยคำว่า วัจ + มรรค
(๑) “วัจ”
บาลีเป็น “วจฺจ” อ่านว่า วัด-จะ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ป้องกัน) + จ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺ (วรฺ > วจฺ)
: วรฺ + จ = วรฺจ > วจฺจ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้ามความสุข” (เมื่อมีอาการอันเนื่องมาจากสิ่งนี้ ความสุขจะถูกห้ามไว้ คือจะรู้สึกไม่เป็นสุข) หมายถึง คูถ, อุจจาระ (excrement, faeces)
“วจฺจ” ในภาษาไทยสะกดเป็น “วัจ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “วัจจะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัจ-, วัจจะ : (คำนาม) อุจจาระ. (ป.; ส. วรฺจสฺ).”
(๒) “มรรค”
บาลีเป็น “มคฺค” อ่านว่า มัก-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + อ (อะ) ปัจจัย
: มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป”
(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค
: มชฺช + ณ = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง”
“มคฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)
(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่
(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล
“มคฺค” ในบาลี เป็น “มารฺค” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มารฺค : (คำนาม) ถนน, ทาง; a road, a path or way.”
ในที่นี้ “มคฺค” ใช้อิงสันสกฤตเป็น “มรรค”
วจฺจ + มคฺค = วจฺจมคฺค (วัด-จะ-มัก-คะ) แปลว่า “ทางออกของอุจจาระ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วจฺจมคฺค” ว่า “the way of faeces,” excrementary canal, opening of the rectum (“เวจมรรค”, ทวารหนัก)
“วจฺจมคฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัจมรรค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัจมรรค : (คำนาม) ทวารหนัก, เวจมรรค ก็เรียก. (ป. วจฺจมคฺค).”
ขยายความ :
“วจฺจมคฺค” หรือ “วัจมรรค” เป็น 1 ในมรรคทั้ง 3 ที่เป็นช่องทางให้กระทำการเสพเมถุนหรือการร่วมเพศ ดังคำแสดงองค์ประกอบของศีลข้อ 3 คือ อพ๎รัห๎มจริยา เวรมณี ดังนี้ –
…………..
อพ๎รัห๎มฯ มีองค์ 3 คือ –
1. ติณณัง มัคคานัง อัญญะตะระตา วัตถุอันตนประพฤติล่วงในมรรคทั้ง 3 มรรคใดมรรคหนึ่ง
2. ตัสมิง เสวะนะจิตตัง จิตคิดจะเสพในมรรคทั้ง 3 นั้น
3. มัคเคนะ มัคคะปะฏิปัตติ เมื่อเสพทำมรรคใดมรรคหนึ่งให้ถึงกันในที่ชุ่มประมาณเท่าเมล็ดงา
…………..
มรรคทั้ง 3 ตามสิกขาบทนี้ท่านว่าคือ วัจมรรค ปัสสาวมรรค และ มุขมรรค –
1 วัจมรรค คือทวารหนัก
2 ปัสสาวมรรค คืออวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิง
3 มุขมรรค คือปาก
ดังนั้น การเสพเมถุนหรือการร่วมเพศจึงไม่ได้หมายถึงฝ่ายชายกระทำกับอวัยวะเพศฝ่ายหญิง (ปัสสาวมรรค) เพียงทางเดียวดังที่มักเข้าใจกันเป็นสามัญ แม้กระทำทางทวารหนักหรือทางปากของชายหรือหญิง ก็นับว่าเป็นการเสพเมถุนหรือการร่วมเพศด้วยเช่นกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางทีทางแคบแสนจะแคบ
: ก็ยังมีคนอุตส่าห์แอบไปลงนรก
#บาลีวันละคำ (4,372)
1-6-67
…………………………….
…………………………….