บาลีวันละคำ

สิบสองราศี (บาลีวันละคำ 4,375)

สิบสองราศี

สิบสองราศี” ในที่นี้หมายถึง จักรราศีหรือเดือนในทางโหราศาสตร์ที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า มังกร กุมภ์ มีน เมษ พฤษภ เมถุน กรกฎ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พฤศจิก ธนู

ขอแสดงรากศัพท์บาลีของแต่ละคำพอเป็นอลังการแห่งความรู้ ดังนี้ –

(๑) “มังกร

บาลีเป็น “มกร” อ่านว่า มะ-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก มุข (หน้า) + กิรฺ (ธาตุ = เรี่ยราย, ซัดส่าย) + (อะ) ปัจจัย, แปลง มุข เป็น , แปลง อิ ที่ กิรฺ เป็น อะ (กิรฺ > กร

: มุข + กิรฺ = มุขกิร + = มุขกิร > มกิร > มกร แปลตามศัพท์ว่า “ปลาที่ส่ายหน้าเมื่อถูกจับ”  

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มกร” ว่า ปลามังกร, ม้าน้ำ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มกร” ว่า a mythical fish or sea monster, Leviathan (ปลาในนิทานหรือสัตว์ที่น่ากลัวในทะเล, มังกร) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

มกร, มกร– : (คำนาม) มังกร, ชื่อดาวราศีที่ ๑๐. (ป., ส.).”

(๒) “กุมภ์

บาลีเป็น “กุมฺภ” อ่านว่า กุม-พะ รากศัพท์มาจาก –

(1) (น้ำ) + อุมฺภ (ธาตุ = เต็ม, เจริญ) + (อะ) ปัจจัย

: + อุมฺภฺ = กุมฺภ + = กุมฺภ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาชนะที่เขาบรรจุน้ำเต็ม” (2) “ภาชนะที่เจริญ” (คือสุกด้วยไฟ)

(2) (ศีรษะ) + ภู (ธาตุ = มี) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ที่ เป็น อุ ( > กุ), ลงนิคหิตอาคม (กุ > กุํ) แล้วแปลงเป็น มฺ (กุํ > กุมฺ), ลบสระที่สุดธาตุ (ภู > )

: > กุ > กุํ > กุมฺ + ภู = กุมฺภู > กุมฺภ + = กุมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะที่มีอยู่บนศีรษะ” (คือเขาทูนหัวไว้)

กุมฺภ” (ปุงลิงค์) หมายถึง หม้อกลม, หม้อน้ำ (a round jar, waterpot)

บาลี  “กุมฺภ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กุมภ-“ (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ กุมภ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กุมภ-, กุมภ์ : (คำนาม) หม้อ; ชื่อกลุ่มดาวรูปหม้อ เรียกว่า ราศีกุมภ์ เป็นราศีที่ ๑๐ ในจักรราศี. (ป.).”

(๓) “มีน

บาลีอ่านว่า มี-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มรฺ (ธาตุ = ตาย) + อีน ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (มรฺ > )

: มรฺ + อีน = มรีน > มีน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่จะตาย

(2) มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อีน ปัจจัย

: มิ + อีน = มีน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาเบียดเบียน

มีน” (ปุงลิงค์) หมายถึง ปลา 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

มีน : (คำนาม) ปลา; ชื่อกลุ่มดาวรูปปลา เรียกว่า ราศีมีน เป็นราศีที่ ๑๑ ในจักรราศี. (ป., ส.).”

(๔) “เมษ

บาลีเป็น “เมส” อ่านว่า เม-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มิสฺ (ธาตุ = เบียด, ย่ำยี) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ มิ-(สฺ) เป็น เอ (มิสฺ > เมส)

: มิสฺ + = มิส > เมส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเสียดกันและกัน

(2) มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ มิ เป็น เอ (มิ > เม)

: มิ + = มิส > เมส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันคนที่ต้องการกินเนื้อเบียดเบียน

เมส” (ปุงลิงค์) หมายถึง แกะ 

ในภาษาไทย ใช้ตามสันสกฤตเป็น “เมษ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เมษ : (คำนาม) แกะ; ชื่อกลุ่มดาวรูปแกะ เรียกว่า ราศีเมษ เป็นราศีที่ ๐ ในจักรราศี. (ส.).”

(๕) “พฤษภ” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อุสภ” อ่านว่า อุ-สะ-พะ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + ปัจจัย 

: อุสฺ + = อุสภ แปลตามศัพท์ว่า แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ทำให้ศัตรูเร่าร้อน” หมายถึง โคตัวผู้ (a bull) ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องหมายของความเป็นเพศผู้และพละกำลัง = คนที่แข็งแรงมาก เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่ต่อสู้

บาลี “อุสภ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “พฤษภ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พฤษภ : (คำนาม) วัว; ชื่อกลุ่มดาวรูปวัวเรียกว่า ราศีพฤษภ เป็นราศีที่ ๑ ในจักรราศี. (ส.วฺฤษฺภ; ป. อุสภ).”

(๖) “เมถุน” 

บาลีอ่านว่า เม-ถุ-นะ รากศัพท์มาจาก “มิถุ” แปลว่า ตรงข้าม, ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน, ขัดกัน ถือเอาความหมายว่า “สิ่งที่เป็นคู่” เพราะถ้าไม่เป็นคู่ หรือไม่มีอีกฝ่ายหนึ่ง ภาวะตรงข้าม ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน หรือขัดกัน ก็มีไม่ได้ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ มิ-(ถุ) เป็น เอ (มิถุ > เมถุ

: มิถุ + ยุ > อน = มิถุน > เมถุน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความประพฤติของคู่หญิงชายผู้มีความพอใจเสมอกัน” (2) “กิจกรรมของคู่ชายหญิงผู้สมสู่กัน” หมายถึง กิจทางเพศที่คนคู่กระทำต่อกัน (sexual intercourse) 

ในคัมภีร์ คำว่า “เมถุน” มักใช้คู่หรือควบกับคำว่า “ธมฺม” เป็น “เมถุนธมฺม” เมื่อใช้คำเช่นนี้ ความหมายจะดิ้นไม่ได้ (เช่นอ้างว่ามาคู่กันเพื่อทำกิจอย่างอื่น)

โปรดสังเกตว่า “คนคู่” ในความหมายดั้งเดิมคือ “อิตฺถีปุริส” หรือ “ปุมิตฺถิยุคล” คือคู่ชายกับหญิง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เมถุน” ไว้ 2 คำ บอกไว้ว่า –

(1) เมถุน ๑ : (คำนาม) การร่วมสังวาส. (ป.).

(2) เมถุน ๒ : (คำนาม) คนคู่; ชื่อกลุ่มดาวรูปคนคู่ เรียกว่า ราศีเมถุน เป็นราศีที่ ๒ ในจักรราศี.

(๗) “กรกฎ

บาลีเป็น “กกฺกฎก” อ่านว่า กัก-กะ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) (น้ำ) + กฏฺ (ธาตุ = ห้าม, ปิดกั้น) + (อะ) ปัจจัย + สกรรถ, ซ้อน กฺ

: + กฺ + กฏฺ = กกฺกฏ + = กกฺกฏ + = กกฺกฏก แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ห้ามอยู่ในน้ำ” (คือยกก้ามห้ามตลอดเวลา) 

(2) กกฺ (ธาตุ = ไป) + อฏ ปัจจัย + สกรรถ, ซ้อน กฺ

: กกฺ + + อฏ = กกฺกฏ + = กกฺกฏก แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เดินไปเรื่อย” 

(3) กุกฺ (ธาตุ = ถือเอา) + อฏ ปัจจัย + สกรรถ, ซ้อน กฺ, แปลง อุ ที่ กุ-(กฺ) เป็น อะ (กุกฺ > กกฺ)

: กุกฺ + + อฏ = กุกฺกฏ + = กุกฺกฏก > กกฺกฏก แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ถือเอาดิน” (คือเดินจิกดินไป)

กกฺกฏก” (ปุงลิงค์) หมายถึง ปู 

ในภาษาไทย ใช้อิงสันสกฤตเป็น “กรกฎ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กรกฎ, กรกฏ : (คำนาม) ปู เช่น กรกฎกุ้งกั้งมังกร. (ม. ร่ายยาว มหาพน); ชื่อกลุ่มดาวรูปปู เรียกว่า ราศีกรกฎ เป็นราศีที่ ๓ ในจักรราศี. (ส. กรฺกฏ; ป. กกฺกฏ).”

(๘) “สิงห์” 

บาลีเป็น “สีห” อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนมฤค

(2) สํ (จาก สํวิชฺชมาน = มีอยู่พร้อม) + อีหา (ความพยายาม) + ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ), ลบ และลบสระหน้า คือ อา ที่ (อี)-หา (อีหา > อีห)

: สํ > + อีหา = สีหา > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่ามฤค” 

สีห” (ปุงลิงค์) นักเรียนบาลีนิยมแปลเป็นไทยว่า ราชสีห์

บาลี “สีห” สันสกฤตเป็น “สึห” (สึ– สระ อึ = อิง ไม่ใช่สระ อี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สึห : (คำนาม) ‘สิงห์,’ เกสริน, สัตว์มีผมคอ; สิงหราศิ, ราศีสิงห์; ต้นมะเขือ; มารดาของราหุหรือราหู; พาลพฤกษ์; ต้นพฤหดีหรือตรังตังช้าง; a lion; Leo, the sign of the zodiac; the egg-plant; the mother of Rahu; a shrub; the prickly night-shade. – (คำวิเศษณ์) (คำใช้ในการรจนา) วิศิษฏ์; เอก; (In composition) pre-eminent; chief.”

สีห” ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีห-, สีห์, สีหะ : (คำนาม) ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ). (ดู สิงห-, สิงห์ ๑). (ป.).”

ตามไปดูที่ “สิงห-, สิงห์ ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

สรุปว่า บาลี “สีห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สีห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สีห์” “สีหะ” “สิงห-” และ “สิงห์

(๙) “กันย์

บาลีเป็น “กญฺญา” อ่านว่า กัน-ยา รากศัพท์มาจาก –

(1) กนฺ (ธาตุ = รัก, ชอบ; รุ่งเรือง) + ปัจจัย, แปลง นฺย (คือ นฺ ที่สุดธาตุกับ ปัจจัย) เป็น , ซ้อน ญฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: กนฺ + = กนฺย > กญฺ + ญฺ + อา = กญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันบุรุษรักชอบ” (2) “ผู้เปล่งปลั่งเพราะอยู่ในวัยรุ่น

(2) กํ (น้ำ) +  เญ (ธาตุ = ยินดี) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ กํ เป็น ,(กํ > กญฺ), ลบ เอ ที่ เญ (เญ > ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: กํ + เญ = กํเญ + = กํเญ > กญฺเญ > กญฺญ + อา = กญฺญา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้บุรุษยินดี” 

กญฺญา” หมายถึง สาวน้อย, เด็กหญิง, หญิงวัยรุ่น ในที่นี้ใช้อิงสันสกฤตเป็น “กันยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กันยา : (คำนาม) สาวรุ่น, สาวน้อย. (ส.; ป. กญฺญา).”

กันยา” ลดรูปใช้เป็น “กันย์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

กันย์ : (คำนาม) สาวรุ่น, สาวน้อย; ชื่อกลุ่มดาวรูปหญิงสาวเรียกว่า ราศีกันย์ เป็นราศีที่ ๕ ในจักรราศี.”

(๑๐) “ตุลย์

เป็นการเรียกแบบเก่า ปัจจุบันใช้เป็น “ดุล” บาลีเป็น “ตุล” อ่านว่า ตุ-ละ และ “ตุลฺย” อ่านว่า ตุน-เลียะ รากศัพท์มาจาก ตุล (ตาชั่ง) + (อะ) ปัจจัย, ลง ปัจจัย ได้รูปเป็น “ตุลฺย” ก็มี 

: ตุล + = ตุล 

: ตุล + = ตุลฺย 

ตุล” “ตุลฺย” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดด้วยตาชั่ง” หมายถึง ดุล คือ สิ่งที่เสมอกัน สิ่งที่เท่ากัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ดุล, ดุล– : (คำนาม) ตราชู, คันชั่ง, มาตราชั่งนํ้าหนักโบราณ เช่น ทองคําหนัก ๒๐ ชั่ง เรียกว่า ดุลหนึ่ง; ความเท่ากัน, ความเสมอกัน, เช่น รายรับรายจ่ายเท่ากัน เรียกว่า งบประมาณสู่ดุล; ชื่อกลุ่มดาวรูปคันชั่ง เรียกว่า ราศีดุล เป็นราศีที่ ๖ ในจักรราศี, ราศีตุล ก็ว่า. (คำวิเศษณ์) เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน. (ป., ส.).”

(๑๑) “พฤศจิก

บาลีเป็น “วิจฺฉิก” อ่านว่า วิด-ฉิ-กะ รากศัพท์มาจาก วิจฺฉฺ (ธาตุ = ไป) + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก)

: วิจฺฉฺ + ณิก = วิจฺฉณิก > วิจฺฉิก แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เดินไป” หมายถึง แมงป่อง

บาลี “วิจฺฉิก” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “พฤศจิก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พฤศจิก : (คำนาม) แมงป่อง; ชื่อกลุ่มดาวรูปแมงป่อง เรียกว่า ราศีพฤศจิก เป็นราศีที่ ๗ ในจักรราศี, ราศีพิจิก ก็ว่า. (ส. วฺฤศฺจิก; ป. วิจฺฉิก).”

(๑๒) “ธนู” 

บาลีเป็น “ธนุ” อ่านว่า ทะ-นุ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย

: ธนฺ + อุ = ธนุ แปลตามศัพท์ว่า “อาวุธที่ทำเสียงได้” 

(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อุ ปัจจัย, แปลง เป็น

: หนฺ + อุ = หนุ > ธนุ แปลตามศัพท์ว่า “อาวุธที่เบียดเบียนสัตว์” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธนุ” (นปุงสกลิงค์) เป็นอังกฤษว่า a bow

บาลี “ธนุ” สันสกฤตเป็น “ธนุ” และ “ธนุสฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธนุ, ธนุส : (คำนาม) ‘ธนู’ คันศร; ธนุราศิ, ราศีธนู; พิกัดสี่สอก; a bow; the sign, Sagittarius, or the Archer.”

ธนุ” เราใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยเป็น “ธนู” 

โปรดสังเกต บาลีเป็น “ธนุ” สระ อุ แต่ไทยเราใช้เป็น “ธนู” สระ อู

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ธนู : (คำนาม) ชื่ออาวุธชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคันธนูซึ่งมีสายขึงอยู่ระหว่างปลายคันธนูทั้ง ๒ ข้าง สำหรับน้าวยิง และลูกธนูที่มีปลายแหลม; ชื่อกลุ่มดาวรูปธนู เรียกว่า ราศีธนู เป็นราศีที่ ๘ ในจักรราศี; ชื่อดาวฤกษ์อนุราธา. (ป. ธนุ).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เลือกเกิดราศีอะไรไม่ได้

: แต่เลือกทำความดีได้ทุกราศี

#บาลีวันละคำ (4,375)

4-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *