บาลีวันละคำ

ทายัชบริโภค (บาลีวันละคำ 2,747)

ทายัชบริโภค

เบิกล่วงหน้ามากิน

อ่านว่า ทา-ยัด-ชะ-บอ-ริ-โพก

ประกอบด้วยคำว่า ทายัช + บริโภค

(๑) “ทายัช

บาลีเป็น “ทายชฺช” (ทา-ยัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ทายาท + ณฺย ปัจจัย

(ก) “ทายาท” บาลีอ่านว่า ทา-ยา-ทะ รากศัพท์มาจาก ทาย (อ่านว่า ทา-ยะ = สิ่งที่ควรมอบให้) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบสระ อา ที่ ทา (ทา > )

: ทาย + อา + ทา = ทายาทา > ทายาท + = ทายาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาสิ่งที่ควรมอบให้” หมายถึง ผู้สืบสกุล, ผู้รับมรดก (heir)

หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาสันสกฤตไว้ดังนี้ –

ทายาท : (คำนาม) บุตร; ญาติ (สนิธหรือห่าง); ผู้รับมรดก, ผู้สืบวงศกุล; บุตรี; สตรีผู้สืบวงศกุล; a son; a kinsman (near or remote); an heir; a daughter; an heiress.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาไทยไว้ว่า –

ทายาท : (คำนาม) ผู้สืบสันดาน, ผู้สืบสกุล, โดยปริยายหมายถึงผู้รับหรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตําแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่น เช่น ทายาททางการเมือง; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลรวมทั้งทารกในครรภ์มารดาซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามกฎหมาย เรียกว่า ทายาทโดยธรรม ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามพินัยกรรม เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม. (ป., ส.).”

(ข) ทายาท + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), แปลง ที่ (ทายา)- กับ ที่ ณฺ ปัจจัย (ลบ ณฺ เหลือ ) เป็น ชฺช (ทฺย > ชฺช), รัสสะ อา ที่ (ทา)-ยา(ท) เป็น อะ (ทายาท > ทายท)

: ทายาท + ณฺย = ทายาทณฺย > ทายาทฺย > ทายทฺย > ทายชฺช แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรแก่ทายาท” “ความเป็นทายาท

ทายชฺช” เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง มรดก (inheritance) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ผู้ควรรับมรดก (one who inherits)

บาลี “ทายชฺช” ภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “ทายัช” (ทา-ยัด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทายัช : (คำแบบ) (คำนาม) ทรัพย์มรดก. (ป. ทายชฺช; ส. ทายาทฺย).”

(๒) “บริโภค

บาลีเป็น “ปริโภค” (ปะ-ริ-โพ-คะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (รอบด้าน) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง เป็น

: ปริ + ภุชฺ + = ปริภุชณ > ปริภุช > ปริโภช > ปริโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอยรอบด้าน” หมายถึง การบริโภค, การใช้สอย, สิ่งที่ใช้สอย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริโภค” ว่า –

(1) material for enjoyment, food, feeding (เครื่องบริโภค, อาหาร, โภชนะ)

(2) enjoyment, use (การบริโภค, การใช้สอย)

ปริโภค” ภาษาไทยใช้ว่า “บริโภค

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริโภค : (คำกริยา) กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร, เสพ เช่น บริโภคกาม; ใช้สิ้นเปลือง, ใช้สอย, เช่น บริโภคสมบัติ, คู่กับ อุปโภค. (ป. ปริโภค).”

ทายชฺช + ปริโภค = ทายชฺชปริโภค (ทา-ยัด-ชะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “การกินและการใช้สอยโดยความเป็นทายาท” หมายถึง บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทายัชบริโภค” (ทา-ยัด-ชะ-บอ-ริ-โพก)

ขยายความ :

บริโภค” ในที่นี้ ท่านจำแนกไว้ 4 อย่าง คำบาลีและคำแปลว่าดังนี้

(1) เถยฺยปริโภค (เถย-ยะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างขโมย

(2) อิณปริโภค (อิ-นะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นหนี้

(3) ทายชฺชปริโภค (ทา-ยัด-ชะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก

(4) สามิปริโภค (สา-มิ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ

คำว่า “ทายชฺชปริโภค” ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เช่น สมันตปาสาทิกา ภาค 2 อรรถกถาพระวินัย รูปิยสิกขาบท หน้า 230 เป็นต้น ขยายความไว้ว่า –

…………..

สตฺตนฺนํ  เสกฺขานํ  ปจฺจยปริโภโค  ทายชฺชปริโภโค  นาม.

การบริโภคปัจจัยของพระเสขะ 7 จำพวก ชื่อว่าทายัชบริโภค

…………..

ไขความ :

พระอริยบุคคลมี 8 จำพวก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม :

๑ กลุ่มพระเสขะ มี 7 จำพวก คือ –

(1) ผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค

(2) ผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล = พระโสดาบัน

(3) ผู้ดำรงอยู่ในสกทาคมิมรรค

(4) ผู้ดำรงอยู่ในสกทาคมิผล = พระสกทาคามี

(5) ผู้ดำรงอยู่ในอนาคามิมรรค

(6) ผู้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล = พระอนาคามี

(7) ผู้ดำรงอยู่ในอรหัตมรรค

๒ กลุ่มพระอเสขะ มี 1 จำพวก คือ –

(8) ผู้ดำรงอยู่ในอรหัตผล = พระอรหันต์

ปัจจัยที่ทายกถวายนั้น ท่านว่าเขาถวายสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยเหล่านั้นเพราะทรงอนุญาตให้ภิกษุสามเณรบริโภคใช้สอยได้ และภิกษุสามเณร-โดยเฉพาะพระอริยบุคคล-ท่านเรียกว่า “ศากยบุตร” อยู่ในฐานะเสมือนลูกของพระพุทธเจ้า จึงบริโภคใช้สอยปัจจัยปัจจัยเหล่านั้นในฐานะเป็นทายาท

มองอีกแง่หนึ่ง ว่าโดยนัยสูงสุด ปัจจัยที่ทายกถวายนั้นย่อมมุ่งถวายพระอรหันต์ (ถวายเพื่ออุปถัมภ์บำรุงภิกษุสามเณรให้มีกำลังปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด) พระอรหันต์จึงเป็นเจ้าของปัจจัยตัวจริง (ดูคำว่า “สามิบริโภค” บาลีวันละคำ (2,748) 21-12-62) แต่พระเสขะ 7 จำพวกนั้นมีอนาคตเป็นพระอรหันต์แน่นอน การบริโภคใช้สอยปัจจัยของท่านจึงเปรียบเสมือนทายาทที่ขอใช้สิทธิ์เบิกมรดกล่วงหน้า

นี่คือความหมายของคำว่า “ทายัชบริโภค” = บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก

…………..

หนังสือ พุทธธรรม ฉบับขยายความ งานนิพนธ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต หน้า 351 อธิบายไว้ว่า –

…………..

ในชั้นอรรถกถา ท่านจำแนกการบริโภคของภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้รับทักขิณาของชาวบ้านมาฉันและใช้สอยว่ามี 4 อย่าง

……

……

พวกที่ 3 คือพระเสขะหรือทักขิไณยบุคคล 7 พวกแรกในจำนวน 8 เมื่อรับทักขิณามาบริโภคการบริโภคของท่านเรียกว่า ทายัชชบริโภค แปลว่าบริโภคฐานทายาทหรือมีสิทธิโดยชอบธรรมในฐานะที่เป็นทายาทของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลสูงสุด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเบิกล่วงหน้าจนหมด

: อนาคตอาจจะไม่มีกิน

#บาลีวันละคำ (2,747)

20-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย