บาลีวันละคำ

ธรรมขันธ์ (บาลีวันละคำ 4,381)

ธรรมขันธ์

แปดหมื่นสี่พันไม่ใช่ตัวเลขจริง??

อ่านว่า ทำ-มะ-ขัน

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + ขันธ์

(๑) “ธรรม

เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล) 

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลาง ๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างคำอธิบายของอรรถกถา สรุปความหมายของ “ธมฺม” ไว้ 4 อย่าง คือ –

(1) good conduct (ความประพฤติดี)

(2) preaching & moral instruction (การเทศน์และการสั่งสอนทางศีลธรรม)

(3) the 9 fold collection of the Buddh. Scriptures (สัตถุศาสน์มีองค์ 9)

(4) cosmic law (กฎธรรมชาติของสากลจักรวาล) 

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ธรฺมฺม” และ “ธรฺม” บอกไว้ดังนี้ 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธรฺมฺม, ธรฺม : (คำนาม) ‘ธรรม,’ สทาจาร, สาธุและธรรมคุณ; ธรรมเนียมหรือประเพณี, ประโยคหรือกริยาประพันธ์, ขนบธรรมเนียม หรือลัทธิรองโคตร์, ชาติ, ฯลฯ; กฤตย์, การย์, น่าที่หรือพรต ( อันพระเวทกำหนดลงไว้เปนอาทิ); ความเหมาะ, คุณสมบัติ; ประกฤติ, ธรรมดา; กีรติ, เกียรติ; ภาวะหรือประพฤติ; ศุจิตา, โทษวิมุกติ์, ความไม่มีโทษ, ความบริสุทธิ์; สมพาท, ความแม้นหรือละม้าย; ยัญหรือการบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง; อุปนิษัทหรืออีศวรภาคแห่งพระเวท; ประโยคหรือกฤตย์ ฉะเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง; ดุจ, การให้ทานเปน ‘ธรรม’ ของคฤหเมธิน; การให้ความยุกติธรรมเปน ‘ธรรม’ ของนฤบดี; ศรัทธาเปน ‘ธรรม’ ของพราหมณ์; ความอุตสาหะเปน ‘ธรรม’ ของกษัตริย์, ฯลฯ; พจน์อันกอปรด้วยกรุณรส; วินัย, กฎหมาย; นามของพระยม, ผู้ปกครองอโธโลก, และทัณฑนายกของผู้ตาย; สทาจารอันโรปยติเปนบุรุษ, เกิดจากอุรัสเบื้องขวาของพระพรหม; ธนู; นรผู้มีธรรม; พลึวรรทหรือวัวที่นั่งของพระศิวะ; virtue, moral and religious merit; usage, custom, practice or the customary observances of caste, sect, &c.; duty (especially laid down or enjoined by the Vedas; fitness, propriety; nature; character; natural state or disposition; innocence, harmlessness, purity; resemblance; any sacrifice; an Upanishad or theological portion of a Veda; any peculiar practice or duty; thus, giving alms is the dharma of a householder; administering justice, the dharma of a king; piety, that of a Brâhmaṇ; courage, that of a Kshatriya, &c; kind speech or discourse; law; a name of Yama, ruler of the lower regions, and judge of the dead; virtue personified, born from the right breast of Brahmâ; a bow; a pious man; the bull of Śiva;- (คำวิเศษณ์) ตามพระธรรมและพระเวท; อันสมาคมกับบุณยชนหรือสาธุชน; according to the law and the Vedas; associating with the virtuous.”

ในภาษาไทย เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คำสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

(๒) “ขันธ์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > )

: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้

(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ 

: ขาทฺ > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ

(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ 

: ขชฺชฺ > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน

(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ปัจจัย

: ขนฺ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)

(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)

(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)

(4) ลำต้น (the trunk)

(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)

(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)

ในภาษาไทย “ขนฺธ” ใช้เป็น “ขันธ์” (ขัน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”

ธมฺม + ขนฺธ ซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์

: ธมฺม + กฺ + ขนฺธ = ธมฺมกฺขนฺธ (ทำ-มัก-ขัน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “กองแห่งธรรม

บาลี “ธมฺมกฺขนฺธ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมขันธ์” (ทำ-มะ-ขัน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ธรรมขันธ์ : (คำนาม) หมวดธรรม, กองธรรม, ข้อธรรม, (กําหนดข้อธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์). (ส. ธรฺม + ป. ขนฺธ).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ – 

ธรรมขันธ์ : (คำนาม) หมวดธรรม, กองธรรม, เช่น ธรรมขันธ์ ๕ ได้แก่ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัศนขันธ์; ข้อธรรม (กำหนดข้อธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์). (ส. ธรฺม + ป. ขนฺธ).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ธรรมขันธ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ธรรมขันธ์ : กองธรรม, หมวดธรรม; 1. ประมวลธรรมเข้าเป็นหมวดใหญ่ มี ๕ คือ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์; 2. กำหนดหมวดธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ และอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

…………..

แถม :

หมวดธรรมหรือข้อธรรมในพระไตรปิฎกที่ว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น มีผู้แสดงความเห็นว่า ตัวเลข “๘๔,๐๐๐” เป็นเพียง “สำนวน” มีความหมายว่า พระไตรปิฎกมีหมวดธรรมหรือข้อธรรมเป็นจำนวนมากมาย ไม่ใช่ว่าพระไตรปิฎกมีหมวดธรรมหรือข้อธรรมนับได้ “๘๔,๐๐๐” ตรงตามนี้จริง ๆ

ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่ขอแรงท่านทั้งปวงที่มีฉันทะอุตสาหะศึกษาพระไตรปิฎกช่วยแสดงหลักฐานว่า มีการนับจำนวนพระธรรมขันธ์ได้ “๘๔,๐๐๐” จริง ๆ และนับอย่างไร 

การบอกตัวเลขเพียงว่า วินัยปิฎกมี ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎกมี ๒๑,๐๐๐ และอภิธรรมปิฎกมี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เท่านี้ โดยไม่ได้แสดงรายละเอียด-หรือแสดงไม่ได้-ว่า แต่ละปิฎกที่อ้างว่ามีจำนวนเท่านั้น ๆ พระธรรมขันธ์นั้น นับอย่างไร ตัวเลขเหล่านั้นมาจากไหน เช่นนี้ ก็เท่ากับยอมรับว่า ความเห็นที่ว่า ตัวเลข “๘๔,๐๐๐” ไม่ใช่ตัวเลขจริง เป็นเพียง “สำนวน” นั้น เป็นจริงตามความเห็นนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความจริง ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบพิสูจน์

: ไม่ใช่อยู่ที่คำพูดว่าจริงหรือไม่จริง

#บาลีวันละคำ (4,381)

10-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *