บาลีวันละคำ

รโห ไม่ใช่ ระโห (บาลีวันละคำ 4,382)

รโห ไม่ใช่ ระโห

อย่าให้ใครรู้ความลับว่าท่านสะกดผิด

รโห” รากศัพท์มาจาก –

(1) รหฺ (ธาตุ = สงัด) + (อะ) ปัจจัย 

: รห + = รห แปลตามศัพท์ว่า “โอกาสที่สงัดจากผู้คน” (คือไม่มีใครอื่นอยู่ในที่นั้น อยู่คนเดียว)

(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + (อะ) ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น (รมฺ > รหฺ

: รมฺ > รหฺ + = รห แปลตามศัพท์ว่า “โอกาสเป็นที่ยินดีแห่งผู้คน” (คือไม่มีคนอื่นๆ มารบกวน สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้อย่างสบายใจ)

รห” หมายถึง ที่เปลี่ยว, ที่สงัด, ความเปล่าเปลี่ยว; ความลับ, ความรโหฐาน หรือไม่เป็นที่เปิดเผย (lonely place, solitude, loneliness; secrecy, privacy)

รห” ในบาลีโดยปกติเป็น “รโห” ใช้ในฐานะเป็นนิบาต 

“นิบาต” ในบาลีไวยากรณ์ หมายถึงศัพท์จำพวกหนึ่ง เป็นศัพท์คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติเหมือนศัพท์นามปกติ

หนังสือบาลีไวยากรณ์ วจีวิภาคที่ 2 นามและอัพพยศัพท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนที่ว่าด้วย “นิบาต” บอกไว้ว่า –

…………..

นิบาตนั้น สำหรับลงในระหว่างนามศัพท์บ้าง กิริยาศัพท์บ้าง บอกอาลปนะ กาล ที่ ปริเฉท อุปไมย ปฏิเสธ ความได้ยินเล่าลือ ความปริกัป ความถาม ความรับ ความเตือน เป็นต้น

…………..

หนังสือบาลีไวยากรณ์ฯ จัด “รโห” ไว้ในกลุ่ม “นิบาตบอกที่” แปล “รโห” ว่า “ที่ลับ”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย “รโห” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) รโห : (คำนาม) ลับ, สงัด, เงียบ. (ป.).

(2) รโหคต : (คำวิเศษณ์) ผู้ไปในที่ลับ, ผู้อยู่ในที่สงัด. (ป.).

(3) รโหฐาน : (คำนาม) ที่เฉพาะส่วนตัว. (ป. รโห + ฐาน ว่า ที่ลับ, ที่สงัด).

ขยายความ :

คำว่า “รโห” ในพุทธศาสนสุภาษิตที่นิยมนำไปพูดอ้างอิงคือ “นตฺถิ  โลเก  รโห  นาม” แปลกันว่า ความลับไม่มีในโลก

พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้เป็นคาถา ข้อความเต็ม ๆ มีดังนี้ –

…………..

นตฺถิ  โลเก  รโห  นาม

ปาปกมฺมํ  ปกุพฺพโต

ปสฺสนฺติ  วนภูตานิ

ตํ  พาโล  มญฺญเต  รโห.

เมื่อทำชั่วเข้าแล้ว

ชื่อว่าความลับย่อมไม่มีในโลก

ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็นจนได้

คนโง่เท่านั้นที่เข้าใจว่าความชั่วที่ทำนั้นเป็นความลับ

อหํ  รโห  น  ปสฺสามิ

สุญฺญํ  วาปิ  น  วิชฺชติ

ยตฺถ  สุญฺญํ  น  ปสฺสามิ

อสุญฺญํ  โหติ  ตํ  มยา.

ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ

หรือแม้ที่ว่างเปล่าจากผู้คน ก็ไม่มี

ที่ใดว่างเปล่า ข้าพเจ้าไม่เห็นใคร

ที่นั้นก็ย่อมไม่ว่างเปล่าจากตัวข้าพเจ้า

ที่มา : สีลวีมังสชาดก จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 518-519

…………..

คำเตือน :

คำว่า “รโห– ไม่ต้องมีสระ อะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดคำผิดแบบฉบับ ความลับของท่านก็ระเบิด

: คือประกาศให้โลกรู้ว่าท่านไม่หมั่นเปิดพจนานุกรม

…………..

ว่ากันว่าฝรั่งที่เรียนภาษาไทย ขยันเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมากกว่าคนไทยเป็นพันเท่า!!

#บาลีวันละคำ (4,382)

11-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *