บาลีวันละคำ

อนุศิษฏ์ (บาลีวันละคำ 4,388)

อนุศิษฏ์

อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นศิษย์ผู้น้อย

อ่านว่า อะ-นุ-สิด

แยกศัพท์เป็น อนุ + ศิษฏ์ 

(๑) “อนุ

เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนือง ๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนือง ๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนือง ๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก 

ความหมายตามตัวของ “อนุ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ว่า –

(1) after, behind (ภายหลัง, ข้างหลัง)

(2) for, towards an aim, on to, over to, forward (ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า)

บางที “อนุ” สะกดเป็น “อณุ” (-ณุ ณ เณร) ใช้ในความหมายว่า เล็กน้อย, กระจ้อยร่อย, อณู, ละเอียด, ประณีต (small, minute, atomic, subtle)

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม, เนือง ๆ

(๒) “ศิษฏ์” 

บาลีเป็น “สิฏฺฐ” อ่านว่า สิด-ถะ รากศัพท์มาจาก สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ปัจจัย, แปลง อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อิ (สาสฺ > สิสฺ), แปลง สฺต (คือ สฺ ที่สุดธาตุกับ ปัจจัย) เป็น ฏฺฐ

: สาสฺ + = สาสฺต > สิสฺต > สิฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “อัน-สั่งสอนแล้ว” คือ ผู้ที่ถูกสั่งสอน

บาลี “สิฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “ศิษฺฐ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศิษฺฐ : (คำวิเศษณ์) อันว่าง่ายหรือสอนง่าย; อันสั่งหรือบัญชาแล้ว; เอก; อันเหลืออยู่; obedient or docile; ordered or commanded; chief; remaining; – น. อมาตย์; ประมุข; a counselor; a chief.”

ในบาลี ปกติ “สิฏฺฐ” จะไม่ใช้เดี่ยว ๆ แบบนี้ แต่มักมี “อนุ” นำหน้า เป็น “อนุสิฏฺฐ

: อนุ + สิฏฺฐ = อนุสิฏฺฐ (อะ-นุ-สิด-ถะ) แปลว่า “ผู้อัน-สั่งสอนแล้วเนือง ๆ” หมายถึง ผู้ที่ถูกอบรมสั่งสอนอยู่เสมอ เช่น ศิษย์ที่ครูบาอาจารย์อบรมพร่ำสอนอยู่เสมอ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสิฏฺฐ” ว่า instructed, admonished, advised; ordered, commanded (สั่งสอน, ตักเตือน, แนะนำ; สั่ง, บัญชา) 

บาลี “อนุสิฏฺฐ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อนุศิษฏ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อนุศิษฏ์ : (คำกริยา) สั่งสอน, ชี้แจง. (ส.; ป. อนุสิฏฺฐ).”

ขยายความ :

ฟังเสียงพจนานุกรมฯ แล้ว “อนุศิษฏ์” ในภาษาไทยดูเหมือนจะหมายถึง อบรมสั่งสอนผู้อื่น คือเป็นผู้อบรมสั่งสอนผู้อื่น ไม่ใช้ถูกผู้อื่นอบรมสั่งสอน

แต่ในบาลี “อนุสิฏฺฐ” มีรูปคำเป็นกรรมวาจก คือถูกผู้อื่นกระทำ ไม่ใช่กระทำต่อผู้อื่น นั่นคือ ถูกผู้อื่นอบรมสั่งสอน

แต่พึงเข้าใจว่า บาลีสันสกฤตที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยนั้นสามารถเปลี่ยนสถานะได้เสมอ เช่น บาลีสันสกฤตเป็นคำนาม เราเอามาใช่เป็นคำกริยา บาลีสันสกฤตเป็นคำกริยา เราเอามาใช่เป็นคำนาม เป็นต้น

อนุศิษฏ์” เป็นคำที่เราไม่คุ้น เมื่ออ่านว่า อะ-นุ-สิด เสียง “สิด” ที่เราคุ้นคือ “ศิษย์” ที่หมายถึง ผู้ศึกษาวิชาความรู้จากครูหรืออาจารย์ และ“ศิษฏ์” กับ “ศิษย์” หน้าตาก็ยังคล้ายกันเสียอีก มองเผิน ๆ ชวนให้เข้าใจผิดได้ง่าย เพราะฉะนั้น เห็นคำนี้ต้องตั้งสติให้ดี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สอนใครได้ทั้งพิภพจบสากล

: ตนของตนสอนไม่ได้ก็ไร้ดี

#บาลีวันละคำ (4,388)

17-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *