ปุนัปปุนัง (บาลีวันละคำ 4,391)
ปุนัปปุนัง
ที่มาของคำว่า “บุนนะบุนนัง”
อ่านว่า ปุ-นับ-ปุ-นัง
“ปุนัปปุนัง” เขียนแบบบาลีเป็น “ปุนปฺปุนํ” (ปุ-นับ-ปุ-นัง) เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ในบาลีไวยากรณ์ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง เรียกว่า “นิบาตมีเนื้อความต่าง ๆ” นิบาตในหมวดนี้มีหลายคำ ขอยกมาแสดงเป็นอลังการแห่งความรู้ดังนี้ (ภาษาอังกฤษจาก THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS)
– อญฺญทตฺถุ =โดยแท้ (surely, all-round, absolutely)
– อโถ = อนึ่ง (and, also, and further, likewise, nay)
– อทฺธา = แน่แท้ (certainly, for sure, really, truly)
– อวสฺสํ = แน่แท้ (inevitably)
– อโห = โอ (yea, indeed, well; I say… for sure…)
– อารา = ไกล (far from, remote [from])
– อาวี แจ้ง (clear, manifest, evident; openly, before one’s eyes, in full view)
– อิติ = เพราะเหตุนั้น, ว่าดังนี้, ด้วยประการนี้, ชื่อ (thus)
– อุจฺจํ = สูง (high)
– กฺวจิ = บ้าง (ever = who-ever, what-ever. etc.)
– กิญฺจาปิ = แม้น้อยหนึ่ง (whatever)
– นานา = ต่าง ๆ (various, of all kinds)
– นีจํ = ต่ำ (low, inferior, humble)
– นูน = แน่ (is it then, now, shall I; surely, certainly, indeed)
– ปจฺฉา = ภายหลัง (behind, aft, after, afterwards, back; westward)
– ปฏฺฐาย = ตั้งก่อน (from … onward, beginning with, henceforth, from the time of)
– ปภูติ = จำเดิม (beginning, since, after, subsequently)
– ปุน = อีก (again)
– ปุนปฺปุนํ = บ่อย ๆ (again and again)
– ภิยฺโย = ยิ่ง (in a higher degree, more, repeatedly, further)
– ภิยฺโยโส = โดยยิ่ง (still more, more and more)
– มิจฺฉา = ผิด (wrongly, in a wrong way, wrong-, false)
– มุธา = เปล่า (for nothing, gratis)
– มุสา = เท็จ (falsely, wrongly)
– สกึ = คราวเดียว (once)
– สณิกํ = ค่อย ๆ (slowly, gently, gradually)
– สตกฺขตฺตุํ = ร้อยคราว (a hundred times = “many” or “innumerable”)
– สทฺธึ = พร้อม, กับ (together)
– สยํ = เอง (self, by oneself)
– สห = กับ (in conjunction with, together, accompanied by; immediately after)
– สามํ = เอง (self, of oneself)
หมายเหตุ: คำแปลเป็นอังกฤษบางคำควรปรับแก้
ตามรายการนี้ จะเห็นว่า มี “ปุน” อยู่ด้วยคำหนึ่ง “ปุนปฺปุนํ” ตามรูปศัพท์ก็คือ ปุน + ปุน ซ้อน ปฺ ระหว่างศัพท์ เนื่องจากศัพท์หลังขึ้นต้นด้วย ป
: ปุน + ปฺ + ปุน = ปุนปฺปุน
“ปุนปฺปุน” ใช้ในฐานะเป็นคำขยายกริยา จึงลง อํ วิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุนปฺปุนํ” ถูกจัดเข้าเป็นนิบาต คงรูปเป็น “ปุนปฺปุนํ” ไม่แจกด้วยวิภัตติใด ๆ อีกต่อไป
“ปุนปฺปุนํ” เขียนแบบไทยเป็น “ปุนัปปุนัง”
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “บุนนะบุนนัง” บอกไว้ว่า –
“บุนนะบุนนัง : (คำกริยา) ซ่อม, เพิ่มเติม.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “บุนนะบุนนัง” มาจากภาษาอะไร แต่เมื่อดูจากรูปคำแล้ว ผู้เขียนบาลีวันละคำแน่ใจว่ามาจาก “ปุนปฺปุนํ” ในบาลีนี่เอง
ป ปลา ในบาลี ไทยเราปรับเป็น บ ใบไม้ เสียงอ่านว่า ปุ-นับ-ปุ-นัง จึงถูกปรับเป็น บุ-นับ-บุ-นัง แล้วเพี้ยนเป็น “บุนนะบุนนัง”
“บุนนะบุนนัง” ในภาษาไทย ที่พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ว่า “ซ่อม, เพิ่มเติม” ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ไม่ยาก “ปุนปฺปุนํ” แปลว่า “บ่อย ๆ” (again and again) หมายถึงทำซ้ำ ๆ คือทำซ้ำลงไปในสิ่งที่เคยทำไว้แล้วหรือมีอยู่แล้ว ความหมายเดียวกับ ซ่อม หรือเพิ่มเติมนั่นเอง
การที่พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “บุนนะบุนนัง” ไว้ บอกให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งคนไทยเคยเอาคำว่า “ปุนปฺปุนํ” ในบาลีมาใช้ในภาษาไทยเป็น “บุนนะบุนนัง” แต่คนไทยวันนี้น่าจะไม่รู้จักคำนี้แล้ว ไม่ต้องหวังว่ายังจะมีใครพูดคำนี้กันอยู่อีก
แถม :
คัมภีร์ธรรมบทมีคาถาวรรคหนึ่งว่า “ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ” (ทุก-ขา ชา-ติ ปุ-นับ-ปุ-นัง) (ชราวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 21)
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 5 อันเป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีแปลคาถาวรรคนี้ว่า “การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์” แต่มีเชิงอรรถบอกไว้ว่า “ความเกิด เป็นทุกข์ร่ำไป”
จึงเกิดเป็นปัญหาว่า “ปุนปฺปุนํ” —
ทำหน้าที่ขยาย “ทุกฺขา” > “ปุนปฺปุนํ ทุกฺขา” = เป็นทุกข์ร่ำไป
หรือขยาย “ชาติ” > “ปุนปฺปุนํ ชาติ” = การเกิดบ่อย ๆ
ขอฝากนักเรียนบาลีช่วยกันขบคิดเป็นการบ้านหรือการวัดโดยทั่วกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนบาลีเพื่อสอบได้ ดี
: เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้มาขบคิดปัญหา ดีมาก
: เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้มาปฏิบัติขัดเกลาตนเอง ดีที่สุด
#บาลีวันละคำ (4,391)
20-6-67
…………………………….
…………………………….