บาลีวันละคำ

อาณาบริเวณ (บาลีวันละคำ 4,390)

อาณาบริเวณ

พูดได้ ควรรู้ความหมายด้วย

อ่านว่า อา-นา-บอ-ริ-เวน

ประกอบด้วยคำว่า อาณา + บริเวณ

(๑) “อาณา

เป็นคำบาลี อ่านตรงตัวว่า อา-นา รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง “อาณา” “อาชญา” และ “อาญา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

(1) อาณา : (คำนาม) อำนาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ. (ป.; ส. อาชฺญา).

(2) อาชญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา. (ส.; ป. อาณา).

(3) อาญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา).

(๒) “บริเวณ

บาลีเป็น “ปริเวณ” อ่านว่า ปะ-ริ-เว-นะ รากศัพท์มาจาก : ปริโต เวตีติ ปริเวณํ 

ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วี (ธาตุ = เป็นไป, แผ่ไป) + ปัจจัย, แปลง อี (ที่ วี) เป็น เอ, คง ปัจจัยไว้ ( ปัจจัย ปกติเมื่อลงแล้วจะลบออก)

: ปริ + วี + = ปริวีณ > ปริเวณ แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่เป็นไปโดยรอบ” “พื้นที่ที่แผ่ไปโดยรอบ

ปริเวณ” หมายถึง :

(1) บริเวณ, อาณาเขต, สิ่งทั้งหมดที่เป็นของปราสาทหรือบ้านและส่วนประกอบ (compound, precinct, all that belongs to a castle, a mansion and its constituents)

(2) กุฎีหรือห้องส่วนตัวของภิกษุ (a cell or private chamber for a bhikkhu)

ความรู้เพิ่มเติม :

ปริเวณ” ในภาษาบาลีมักหมายถึง –

๑ เขตย่อยในพื้นที่ส่วนรวมที่กำหนดไว้เป็นส่วนตัวของบุคคล เช่นภายในวัด ( = พื้นที่ส่วนรวม) ในสมัยพุทธกาลแบ่งเป็นเขตที่พระภิกษุแต่ละองค์พักอาศัย ( = พื้นที่ส่วนตัว) ก็เรียกว่า “บริเวณ (ของพระรูปนั้น)” เช่น “บริเวณพระมหากัสสปะ” “บริเวณพระอานนท์

๒ พื้นที่ทั่วไปที่มีสิ่งสำคัญ เช่นมีต้นมหาโพธิ์หรือเจดีย์ มีผู้กั้นรั้วล้อมรอบสิ่งนั้นไว้ภายใน ก็เรียกว่า “บริเวณ” เช่น “บริเวณโพธิ์” “บริเวณเจดีย์

ปริเวณบริเวณ” ตามนัยนี้จะเห็นว่ามุ่งหมายถึงเขตที่มีบุคคลหรือสิ่งสำคัญอยู่ภายใน มิได้มุ่งหมายถึงพื้นที่รอบ ๆ ของอาคารหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือพื้นที่ว่างทั่วไปดังที่เข้าใจกันในชั้นหลัง

ปริเวณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บริเวณ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริเวณ : (คำนาม) พื้นที่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น บริเวณบ้าน บริเวณโบสถ์ บริเวณวัด บริเวณสนามหลวง. (ป. ปริเวณ).

อาณา + บริเวณ = อาณาบริเวณ แปลว่า “ขอบเขตที่มีอำนาจ” หมายถึง ขอบเขตพื้นที่ซึ่งผู้ใดผู้หนึ่งมีอำนาจปกครองดูแลรับผิดชอบ

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “อาณาบริเวณ” ว่า region (of Southeast Asia) 

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล region เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) rajja รชฺช (รัด-ชะ) = “ความเป็นพระราชา” = อำนาจครอบครอง

(2) raṭṭha รฏฺฐ (รัด-ถะ) = แว่นแคว้น, บ้านเมือง

(3) vijita วิชิต (วิ-ชิ-ตะ) = “อันชนะแล้ว” = ดินแดนที่ยึดครองได้

(4) desa เทส (เท-สะ) = ถิ่น, สถานที่

(5) visaya วิสย (วิ-สะ-ยะ) = ขอบเขต

ขยายความ :

ที่คำว่า “อาณา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “อำนาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ” 

พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่างประกอบคำนิยามว่า “เช่น อาณาบริเวณ”

แต่คำว่า “อาณาบริเวณ” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครองอาณาบริเวณเท่ากำปั้นได้

: ครองโลกได้

#บาลีวันละคำ (4,390)

19-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *