สภากาชาด (บาลีวันละคำ 4,397)
สภากาชาด
เผื่อคนใฝ่ฉลาดอยากรู้คำแปล
อ่านตรงตัวว่า สะ-พา-กา-ชาด
ประกอบด้วยคำว่า สภา + กา + ชาด
(๑) “สภา”
อ่านว่า สะ-พา รากศัพท์มาจาก –
(1) สนฺต (คนดี) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส, ลบ กฺวิ
: สนฺต > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”
(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ส), ลบ ส ที่สุดธาตุ (ภาสฺ > ภา) และลบ กฺวิ
: สํ > ส + ภาสฺ = สภาสฺ + กฺวิ = สภาสกฺวิ > สภาส > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด”
(3) สห (คำอุปสรรค = ร่วมกัน) + ภา (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ห ที่ สห (สห > ส) และลบ กฺวิ
: สห > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน”
ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดี ๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่าง ๆ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สภา” ดังนี้ –
(1) a hall, assembly (หอ, สำนักงาน, ห้องประชุม)
(2) a public rest-house, hostelry (บ้านพักสาธารณะ, หอพัก)
“สภา” (อิตถีลิงค์) ทั้งบาลี สันสกฤต และภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สภา : (คำนาม) องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).”
ในภาษาบาลี “สภา” หมายถึง “สถานที่” แต่ในภาษาไทยนอกจากหมายถึงสถานที่แล้ว ยังหมายถึง “องค์การ” (หรือองค์กร) คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานอีกด้วย
ในที่นี้ “สภา” ใช้ในความหมายว่า “องค์การ”
(๒) “กา”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กา” ไว้ 5 คำ ขอยกมาเฉพาะ “กา ๕” ซึ่งมีความหมายตรงกับ “กา” ในคำว่า “สภากาชาด” ดังนี้ –
“กา ๕ : (คำกริยา) ทำเครื่องหมายเป็นรูปกากบาท, ทำเครื่องหมายไว้ให้สังเกตได้ เช่น ดูเฉพาะที่กาไว้.”
(๓) “ชาด”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ชาด : (คำนาม) วัตถุสีแดงสดชนิดหนึ่ง เป็นผงก็มี เป็นก้อนก็มี ใช้ทำยาไทยหรือประสมกับน้ำมันสำหรับประทับตราหรือทาสิ่งของ. (คำวิเศษณ์) สีแดงสดอย่างหนึ่ง เรียกว่า สีแดงชาด.”
การประสมคำ :
๑ กา + ชาด = กาชาด แปลตามศัพท์ว่า “ทำเครื่องหมายสีแดงลงไป”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาชาด : (คำนาม) เครื่องหมายรูปกากบาท (+) สีแดงชาดบนพื้นขาว เป็นเครื่องหมายกาชาดสากล.”
๒ สภา + กาชาด = สภากาชาด แปลว่า “ชุมนุมคนที่มีกากบาทสีแดงเป็นเครื่องหมาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สภากาชาด : (คำนาม) องค์การพยาบาลและบรรเทาทุกข์.”
…………..
หมายเหตุ: คำแปล “กาชาด” และ “สภากาชาด” ที่แสดงไว้นั้น เป็นการแปลตามที่ – “ต้องการจะแปล” เท่านั้น
คำเช่นนี้เราพูดกันเป็นคำไทยจนเข้าใจลงตัวตรงกันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแปล แต่ถ้ามีใครเกิดอยากรู้ “ต้องการจะแปล” ขึ้นมา ก็แปลได้ตามที่แปลไว้นั้น และอาจแปลยักเยื้องเป็นอย่างอื่นอีกก็ได้
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “สภากาชาดไทย” (อ่านเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 20:30 น.) สรุปเรื่อง “สภากาชาดไทย” ไว้ดังนี้
…………..
สภากาชาดไทย เป็นสภากาชาดประจำประเทศไทย มีภารกิจปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เดิมเรียก “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ริเริ่มก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ภริยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งมีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเป็นสภานายิกาพระองค์แรก สันนิบาตสภากาชาดมีมติรับสภากาชาดสยามเป็นสมาชิกในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2464
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ช่วยเขา
: คือช่วยเราให้พ้นจากความเห็นแก่ตัว
#บาลีวันละคำ (4,397)
26-6-67
…………………………….
…………………………….