มาบอำมฤต (บาลีวันละคำ 4,396)
มาบอำมฤต
ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดชื่อนี้
อ่านว่า มาบ-อำ-มะ-ริด
ประกอบด้วยคำว่า มาบ + อำมฤต
(๑) “มาบ”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาบ : (คำนาม) บริเวณที่ลุ่มกว้างใหญ่ซึ่งอาจมีน้ำขังหรือไม่มีก็ได้.”
ชื่อสถานที่ซึ่งขึ้นต้นด้วย “มาบ” ที่เราน่าจะคุ้นกันดี คือ “มาบตาพุด” เป็นชื่อตำบลในอำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง ใช้เป็นชื่อท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
(๒) “อำมฤต”
อ่านว่า อำ-มะ-ริด ก็ได้ อำ-มะ-รึด ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ) แต่ในที่นี้อ่านว่า อำ-มะ-ริด แผลงมาจาก “อมฤต”
“อมฤต” เป็นรูปคำสันสกฤต อ่านว่า อะ-มะ-ริด ก็ได้ อะ-มะ-รึด ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ) บาลีเป็น “อมต” อ่านว่า อะ-มะ-ตะ รากศัพท์มาจาก น + มต
(ก) “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ–
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “มต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ม– จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “มต” (มะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ต ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (มรฺ > ม)
: มรฺ + ต = มรต > มต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตายแล้ว”
น + มต = นมต > อมต (คุณศัพท์, นปุงสกลิงค์) แปลว่า ผู้ไม่ตาย, สิ่งที่ทำให้ไม่ตาย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อมต” ดังนี้ –
(1) The drink of the gods, ambrosia, water of immortality (น้ำดื่มของเทพยดา, กระยาทิพย์, น้ำอมฤต)
(2) A general conception of a state of durability & non-change, a state of security i. e. where there is not any more rebirth or re-death (มโนภาพทั่ว ๆ ไปของความยั่งยืนและความไม่เปลี่ยนแปลง, สถานะความมั่นคง คือที่ซึ่งไม่มีการกลับมาเกิดหรือกลับมาตายอีก)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อมต” ไว้ดังนี้ –
“อมต-, อมตะ : (คำวิเศษณ์) ไม่ตาย เช่น อมตธรรม, เป็นที่นิยมยั่งยืน เช่น เพลงอมตะ. (คำนาม) พระนิพพาน. (ป.; ส. อมฺฤต).”
บาลี “อมต” สันสกฤตเป็น “อมฤต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อมฤต : (คำนาม) อาหารของเทพดา; น้ำ; เนย; ข้าว; เหล้า; ของหวาน; ยาพิษ; ทองคำ; ปรอท; ดีปลี, ฯลฯ; the food of the gods (ambrosia, nectar); water; butter; rice; spirituous liquor; sweetmeat; poison; gold; quicksilver; long pepper &c.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อมฤต” ไว้ดังนี้ –
“อมฤต, อมฤต– : (คำนาม) นํ้าทิพย์ เรียกว่า นํ้าอมฤต; เครื่องทิพย์. (ส.; ป. อมต).”
“อมฤต” แผลงเป็น “อำมฤต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อำมฤต : (คำนาม) น้ำทิพย์ เรียกว่า น้ำอำมฤต; เครื่องทิพย์; แผลงมาจาก อมฤต. (ส. อมฺฤต; ป. อมต).”
มาบ + อำมฤต = มาบอำมฤต แปลตามศัพท์เท่าที่ตาเห็นว่า “มาบที่ไม่ตาย” หรือ “ลุ่มน้ำแห่งอมตะ”
“มาบอำมฤต” เป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลดอนยาง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และที่รู้จักกันดีคือ สถานีรถไฟ “มาบอำมฤต”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “มาบอำมฤต” อันเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อสถานีรถไฟ มาจากคำอะไร?
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของเทศบาลตำบลมาบอำมฤต (อ่านเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เวลา 19:15 น.) สรุปได้ว่า –
บ้านมาบอำมฤต เดิมชื่อบ้าน “เขาม่วง” ตามคำบอกเล่าว่าเพราะมีต้นมะม่วงขึ้นอยู่บนเนินเขา 2 ต้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น “เขามะปริด” ให้เหตุผลกันว่าเนื่องจากมีต้นมะปริดใหญ่อยู่บนเขาทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “มาบอำมฤต”
http://mapammarit.webthailocal.com/page.php?id=3375
…………..
ต้นมะปริด คือต้นอะไร ยังไม่อาจสืบทราบได้ และน่าจะช่วยกันสืบหา ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า คำว่า “มะปริด” มีโอกาสที่จะเพี้ยนเป็น “มาบอำมฤต” ได้มากที่สุด
บางกระแสบอกว่า ชื่อเขามะปริดนั้น เรียกกันว่า “มาปริด” อธิบายเลยเถิดไปว่า “มา” ถึงที่นั่นแล้ว “ปลิด” ชีวิต คือเจ็บป่วยล้มตายด้วยไข้ป่า จึงเรียกกันว่า “มา-ปลิด”
ถ้า “มะปริด” เรียกกันเป็น “มาปริด” เรียกไปเรียกมา เสียงกลายเป็น มาบ-ปะ-ริด แล้วลากเข้ารูปเข้าความเป็น “มาบอำมฤต” ดังที่เขียนและเรียกกันอยู่ในปัจจุบัน ก็ฟังดูชอบกลอยู่
นี่คือความสำคัญของ “ภูมินามวิทยา” (Toponymy) ซึ่งคนไทยสมัยนี้ดูเหมือนจะไม่เห็นความสำคัญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อมตะของคนทั่วไป: เกิดแล้วไม่ตาย
: อมตะของพระพุทธเจ้า: ตายแล้วไม่เกิด
————————–
หมายเหตุ: ภาพประกอบที่ 1 ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2503 เป็นหลักฐานว่าชื่อสถานีรถไฟแห่งนี้เคยสะกดเป็น “มาบอำมะริด”
#บาลีวันละคำ (4,396)
25-6-67
…………………………….
…………………………….