บาลีวันละคำ

ยกกระบัตร (บาลีวันละคำ 4,399)

ยกกระบัตร

มาจากภาษาอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ยกกระบัตร” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

ยกกระบัตร : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี; ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับ พนักงานอัยการ หรือ อัยการ ในปัจจุบัน, ยกบัตร หรือ พนักงานรักษาพระอัยการ ก็เรียก; เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร; เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี.”

ยกกระบัตร” มาจากภาษาอะไร พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกไว้

ที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี” ทำให้เกิดแง่คิดขึ้นมาว่า รูปคำ “ยุกกระ” ชวนให้ลาก “ยกกระบัตร” เข้าหาบาลี โดยแยกศัพท์เป็น ยกกระ + บัตร บาลีเป็น “ยุตฺตปตฺต” (ยุด-ตะ-ปัด-ตะ) ดังจะขอลากให้ดู ดังนี้ –

(๑) “ยกกระ

เพี้ยนมาจาก “ยุกฺต” ในสันสกฤต คำนี้บาลีเป็น “ยุตฺต” 

ยุตฺต” อ่านว่า ยุด-ตะ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุ (คือ ชฺ) กับ เป็น ตฺต

: ยุชฺ + = ยุชต > ยุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบแล้ว” 

ยุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เทียมแอก, ใส่เครื่องสำหรับใช้งาน (yoked, harnessed) 

(2) เข้าคู่, เชื่อมโยงกัน (coupled; connected with)

(3) อุทิศให้, ใช้กับ, คุ้นเคย, ประกอบ (devoted to, applied to, given to, engaged in)

(4) หาให้; กำหนด, ตระเตรียม, เรียบร้อย, พร้อม (furnished; fixed, prepared, in order, ready)

(5) สามารถ, เหมาะ (-ที่จะ หรือ-เพื่อจะ) (able, fit) (to or for)

(6) เหมาะเจาะ, พอเพียง (suitable, sufficient)

(7) เหมาะสม, ถูกต้อง (proper, right)

(8 ) เนื่องด้วย (due to)

(9) การมาบรรจบกัน หรือเข้าร่วมกัน (conjunction)

ในที่นี้ “ยุตฺต” ใช้ในความหมายตามข้อ (5) (6) (7)

บาลี “ยุตฺต” สันสกฤตเป็น “ยุกฺต” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ยุกฺต : (คำวิเศษณ์) อันต่อแล้ว, อันรวมแล้ว; อันชอบ, อันเหมาะ, อันควร; อันพิสูจน์แล้ว; ปานกลาง; จำกัดเขตต์, หรือมีเขตต์อันจำกัด; เพ่งเฉพาะ (ดุจการศึกษา); มีกิจธุระ, หรือมีการงารทำอยู่; สลวนเล่าเรียนธรรมประโยคอันชื่อว่าโยคะ; joined combined; right, fit, proper; proved; moderate, of middle rate; limited; intent on (as a study); engaged in business; occupied in performing a religious exercise called Yoga.”

บาลี “ยุตฺต

สันสกฤตเป็น “ยุกฺต

ไทยเคยใช้เป็น “ยุกกระ

ปัจจุบันใช้เป็น “ยกกระ

คือ “ยุกต” ของสันสกฤตนั่นเอง ไทยเราออกเสียง เต่า เป็น ไก่

คำเทียบก็อย่างเช่น –

ตรมตรอม = กรมกรอม

ตรวน = กรวน

ตรอก = กรอก

ตรึกตรอง = กรึกกรอง 

ไตรปิฎก = ไกรปิฎก

ผ้าไตร = ผ้าไกร

ดังนั้น “ยุกต” (ยุก-ตะ) จึงเป็น “ยุกก” (ยุก-กะ) แล้วเลยเขียนเพี้ยนเป็น “ยุกกระ” ในคำว่า “ยุกกระบัตร” ซึ่งเป็นอีกรูปคำหนึ่งของ “ยกกระบัตร” ดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี”

(๒) “บัตร” 

บาลีเป็น “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” 

ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

ยุตฺต + ปตฺต =ยุตฺตปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ใบที่ถูกต้อง” หมายถึง เอกสารที่ประกาศเป็นหลักฐานว่าอะไรถูกอะไรผิดในกรณีที่มีการฟ้องร้องกล่าวโทษกัน

การกลายรูป :

ยุตฺตปตฺต > ยุกฺตปตฺร > ยุกกระบัตร > ยกกระบัตร 

ยกกระบัตร > ยุกกระบัตร > ยุกฺตปตฺร > ยุตฺตปตฺต

พึงทราบว่า นี่เป็นการลากเข้าบาลีโดยอัตโนมัติของผู้เขียนบาลีวันละคำ ทั้งรูปศัพท์และคำแปลไม่รับรองว่าถูกตามเป็นจริง ท่านผู้ใดมีวิชาสามารถลากไปทางไหนได้อีกที่น่าจะถูกต้องกว่านี้ ย่อมมีสิทธิ์ทำได้ เป็นการช่วยกันหาความรู้และให้ความรู้แก่ส่วนรวม

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ยกบัตร” (อ่านว่า ยก-กะ-บัด) ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า – 

ยกบัตร : (คำโบราณ) (คำนาม) ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับ พนักงานอัยการ หรือ อัยการ ในปัจจุบัน, ยกกระบัตร หรือ พนักงานรักษาพระอัยการ ก็เรียก, เขียนเป็น ยกบัตร์ ก็มี.

เป็นอันว่าคำนี้ใช้ได้ 2 แบบ คือ “ยกกระบัตร” ก็ได้ “ยกบัตร” ก็ได้ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กฎหมายยุติธรรมเสมอไป

: ผู้ใช้กฎหมายไม่ยุติธรรมเสมอไป

#บาลีวันละคำ (4,399)

28-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *