magic คือ มายิก (บาลีวันละคำ 4,400)
magic คือ มายิก
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นคำอังกฤษว่า magic ทีไร เป็นต้องนึกเป็นคำบาลีว่า “มายิก” ทุกทีไป
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล magic เป็นไทยดังนี้:
1. เวทมนตร์คาถา, ของวิเศษ, วิเศษ, อำนาจวิเศษ, อาถรรพณ์
2. งดงามจนทำให้หลงใหล
3. น่าอัศจรรย์
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล magic เป็นบาลีดังนี้:
(1) māyā มายา (มา-ยา) = กลลวง
(2) indajāla อินฺทชาล (อิน-ทะ-ชา-ละ) = ข่ายพระอินทร์
เป็นอันว่า magic บาลีเป็น “มายา”
“มายา” ในภาษาบาลีรากศัพท์มาจาก –
(1) มย (อสูร) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ม-(ย) เป็น อา (มย > มาย) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มย + ณ = มยณ > มย > มาย + อา = มายา แปลตามศัพท์ว่า “กลลวงของอสูร (ที่ใช้เพื่อลวงเทวดา)”
ความหมายนี้สืบเนื่องมาจากตำนาน “เทวาสุรสงคราม” (การรบระหว่างเทวดากับอสูร) ซึ่งพวกอสูรใช้เล่ห์กลต่าง ๆ เพื่อจะเอาชนะเทวดา
เผ่าพวกอสูร มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มย” (มะ-ยะ) กลลวงของอสูรจึงมีชื่อเรียกว่า “มายา”
(2) มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มา + ย = มาย + อา = มายา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เทียบความดีของตนกับความดีเยี่ยมอื่น” หมายความว่า เอาความดีของตนซึ่งมีเล็กน้อยหรือไม่มีเลยไปแสดงอาการให้เข้าใจว่ามีความดีมาก = ลวงเขาให้เข้าใจผิด
“มายา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้:
(1) รูปลวง, การล่อลวง, การหลอกลวง, การโกง, การหน้าไหว้หลังหลอก (deceptive appearance, fraud, deceit, hypocrisy)
(2) สูตรลึกลับ, กลวิเศษ, มายา, เล่ห์กระเท่ห์ (mystic formula, magic, trick)
(3) การตบตา, การเล่นกล (jugglery, conjuring)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มายา : (คำนาม) มารยา, การลวง, การแสร้งทํา, เล่ห์กล. (ป., ส.).”
ขยายความ :
โปรดสังเกตคำแปล “มายา” เป็นอังกฤษคำหนึ่ง คือ magic
magic กับ มายา เป็นคำเดียวกัน (ภาษาบาลีกับภาษาอังกฤษอยู่ในตระกูลเดียวกัน)
ถ้าถอดรูปคำ ก็จะเห็นได้ชัดขึ้น:
ma = มา
gic = ยิก
magic = มายิก
อาจอธิบายรากศัพท์ได้ว่า มายา + อิก ปัจจัย, ลบสระหลัง คือ อา ที่ (มา)-ยา (มายา > มาย)
“อิก” (อิ-กะ) เป็นปัจจัยในตัทธิตชนิดที่เรียกว่า “ตทัสสัตถิตัทธิต” (ตะ-ทัด-สัด-ถิ-ตัด-ทิด) ตัทธิตชนิดนี้ใช้ปัจจัยแทนคำว่า “อตฺถิ” (อัด-ถิ) ซึ่งแปลว่า “มีอยู่” มีปัจจัยหลายตัว หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “อิก” ปัจจัย
: มายา > มาย + อิก = มายิก (มา-ยิ-กะ)
ประกอบความตามสูตรรูปวิเคราะห์ว่า –
: มายา อสฺส อตฺถีติ มายิโก แปลว่า “มายาของบุคคลนั้นมีอยู่ เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า มายิโก = ผู้มีมายา”
แต่เมื่อตรวจดูในคัมภีร์แล้ว ไม่พบศัพท์ว่า “มายิโก” หรือ “มายิก”
เป็นอันว่า “มายิก” แม้ตามหลักภาษาจะมีได้ แต่ศัพท์นี้ก็ไม่มีใช้ในคัมภีร์
ศัพท์บาลีที่มีใช้ในคัมภีร์ และมีความหมายอย่างเดียวกับ magic คือ “มายาวี” (มา-ยา-วี) รากศัพท์คือ มายา + วี ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิตเช่นเดียวกัน
: มายา + วี = มายาวี
ประกอบความตามสูตรรูปวิเคราะห์ว่า –
: มายา อสฺส อตฺถีติ มายาวี แปลว่า “มายาของบุคคลนั้นมีอยู่ เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า มายาวี = ผู้มีมายา”
สรุปความตามความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำว่า magic ในภาษาอังกฤษ ถ้าถอดรูปเป็นคำบาลีก็คือ “มายิก”
“มายิก” อ่านว่า มา-ยิ-กะ แปลว่า “คนมีมายา” หรือ “คนมีเล่ห์กล”
เวลาเห็นคำอังกฤษ คิดเป็นคำบาลีไปด้วย ก็สนุกดี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หลอกคนชาติอื่นเพื่อประโยชน์ของชาติตัวเอง = ดี
: หลอกคนในชาติเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง = เลว
#บาลีวันละคำ (4,400)
29-6-67
…………………………….
…………………………….