บาลีวันละคำ

บาลีในภาษาแบบแผน (บาลีวันละคำ 2,604)

บาลีในภาษาแบบแผน

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศสถาปนาสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะเจ้าคณะรองเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 มีข้อความลงท้ายว่า –

…………..

ขออาราธนาพระคุณผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดร เพิ่มอิสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กำลัง และอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ

…………..

ข้อความลงท้ายพระบรมราชโองการนี้เป็นภาษาแบบแผน คือภาษาที่มีหลักนิยมว่าต้องใช้ถ้อยคำที่เป็นแบบแผนหรือแบบฉบับดังที่โบราณาจารย์นิยมใช้กันมา ซึ่งจะไม่เหมือนภาษาราชการตามปกติ

ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของภาษาแบบแผนคือนิยมให้มีเสียงสัมผัสระหว่างวรรคคล้ายคำประพันธ์ประเภท “ร่าย”

ในที่นี้ได้ลองปรับบรรทัดเพื่อให้เห็นถ้อยคำสัมผัสได้ชัดขึ้นดังนี้ –

…………..

(1) ขออาราธนาพระคุณผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดร เพิ่มอิสริยยศในครั้งนี้

(2) จงรับธุระพระพุทธศาสนา

(3) เป็นภาระสั่งสอน

(4) ช่วยระงับอธิกรณ์

(5) และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม

(6) ตามสมควรแก่กำลังและอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้

(7) และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ

(8) คุณสารสิริสวัสดิ์

(9) จิรัฏฐิติ

(10) วิรุฬหิไพบูลย์

(11) ในพระพุทธศาสนาเทอญ

…………..

ข้อความนี้มีคำศัพท์หลายคำที่น่าศึกษาถึงความหมาย ขอยกมาเพียงบางคำดังนี้ –

ข้อ (2) … ธุระพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนามี “ธุระ” 2 อย่าง คือ –

(๑) คันถธุระ การศึกษาพระธรรมวินัยคือพระไตรปิฎกให้รู้แจ้งจริงในคำสอนของพระพุทธเจ้า

(๒) วิปัสสนาธุระ การปฏิบัติธรรมคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเพื่ออบรมขัดเกลาจิตให้ถึงมรรคผลนิพพาน

ข้อ (4) ช่วยระงับอธิกรณ์

คำว่า “อธิกรณ์” หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ ท่านประมวลไว้ 4 อย่าง คือ –

(๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย

(๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ

(๓) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ

(๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐินเป็นต้น

ข้อ (9) จิรัฏฐิติ

จิรัฏฐิติ” อ่านว่า จิ-รัด-ถิ-ติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาแบบแผนโดยเฉพาะ มาจากคำว่า –

จิร” (จิ-ระ) แปลว่า ช้า, นาน, ยั่งยืน +

ฐิติ” (ถิ-ติ) แปลว่า ดำรงอยู่

จิร + ฐิติ ซ้อน ระหว่างศัพท์ : จิร + + ฐิติ เขียนในภาษาไทยเป็น “จิรัฏฐิติ

คำเต็มที่นิยมใช้คือ “จิรัฏฐิติกาล” (จิ-รัด-ถิ-ติ-กาน) มีความหมายว่า “ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน”

ในที่นี้ใช้เป็น “จิรัฏฐิติ” คงมีประสงค์จะให้สัมผัสกับวรรคต่อไปคือ “วิรุฬหิไพบูลย์” = จิรัฏฐิติ > วิรุฬหิไพบูลย์ (-ติ สัมผัสกับ –หิ-)

ข้อ (10) วิรุฬหิไพบูลย์

วิรุฬหิไพบูลย์” อ่านว่า วิ-รุน-หิ-ไพ-บูน คำศัพท์ที่แปลกตาคือ “วิรุฬหิ” (วิ-รุน-หิ) แปลว่า ความงอกงาม

ในบาลี คำในชุดนี้มี 3 คำ ใช้เป็นชุดเสมอ คือ –

(๑) วุฑฺฒิ (วุด-ทิ) ความเจริญ, การเพิ่ม, ความคืบหน้า, ความรุ่งเรือง (increase, furtherance, prosperity)

(๒) วิรุฬหิ (วิ-รุน-หิ) ความงอกงาม (growth)

(๓) เวปุลฺล (เว-ปุน-ละ) ความไพบูลย์, ความอุดมสมบูรณ์, ความล้นเหลือ, ความเต็มเปี่ยม (full development, abundance, plenty, fullness)

นิยมแต่งเป็นคาถาว่า –

วุฑฺฒึ วิรุฬฺหิ เวปุลฺลํ

ปปฺโปตุ พุทฺธสาสเน.

(วุฑฒิง วิรุฬหิ เวปุลลัง

ปัปโปตุ พุทธะสาสะเน.)

แปลว่า –

จงถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์

ในพระพุทธศาสนาเทอญ

คำถาม :

มีปัญหาว่า ในข้อ (7) คำว่า “… อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ” จะอ่านอย่างไร

อา-ยุ วัน-นะ สุ-ขะ พะ-ละ ปะ-ติ-พาน?

หรือ อา-ยุ – วัน – สุก – พน – ปะ-ติ-พาน?

ขอฝากเป็นการบ้านช่วยกันขบคิดด้วยเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาแบบแผนไม่ยากเกินที่จะเรียนให้รู้ประจักษ์

: ขอเพียงมีหัวใจรักที่จะเรียนรู้

#บาลีวันละคำ (2,604)

30-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย