บาลีวันละคำ

สัมพาธ (บาลีวันละคำ 4,402)

สัมพาธ

ล้อพจนานุกรมสักคำ

อ่านว่า สำ-พาด

สัมพาธ” เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺพาธ” อ่านว่า สำ-พา-ทะ รากศัพท์มาจาก สํ + พาธ

(๑) “สํ

อ่านว่า สัง เป็นคำอุปสรรค ใช้นําหน้าศัพท์อื่น ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

สํ” นำหน้า “พาธ” แปลงนิคหิตเป็น มฺ (สํ > สมฺ) ซึ่งเป็นพยัญชนะที่สุดวรรคของ (ป ผ พ ภ ม)

(๒) “พาธ

อ่านว่า พา-ทะ รากศัพท์มาจาก พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ป่วน) + (อะ) ปัจจัย

: พาธฺ + = พาธ แปลตามศัพท์ว่า “การบีบเข้า” หมายถึง การบีบ [เข้าด้วยกัน], การกดขี่, อุปสรรค, การรบกวน (pressing [together], oppression, hindrance, annoyance)

สํ + พาธ = สํพาธ > สมฺพาธ แปลว่า “การบีบเข้าด้วยกัน” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สมฺพาธ” ว่า คับแคบ, แออัด, ยุ่งยาก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺพาธ” ว่า 

(1) crowding, pressure, inconvenience from crowding, obstruction (ความแออัด, ความคับแคบ, การเบียดเสียดกัน, การกีดขวาง)

(2) pudendum masculinum, pudendum muliebre (ของลับ, อวัยะเพศ) 

สมฺพาธ” ในบาลีที่ควรรู้คือ วลีที่ว่า “สมฺพาโธ  ฆราวาโส  รชาปโถ” แปลว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้เป็น “สัมพาธะ” บอกไว้ว่า – 

สัมพาธะ : (คำนาม) ความคับแคบ, การเบียดเสียด, การยัดเยียด, การอัดแอ. (ป., ส.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ เก็บคำนี้เป็น “สัมพาธะ” อ่านว่า สำ-พา-ทะ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอคำนี้อีกรูปหนึ่ง คือ “สัมพาธ” อ่านว่า สำ-พาด ความหมายอย่างเดียวกับ “สัมพาธะ

สัมพาธ” เสียงกระชับกว่า “สัมพาธะ” แต่ต้องระวัง เพราะเสียงว่า สำ-พาด ชวนให้นึกถึงคำว่า “สัมภาษณ์” ซึ่งออกเสียงว่า สำ-พาด เหมือนกัน

สัมพาธ” กับ “สัมภาษณ์” เป็นคนละคำกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สัมภาษณ์” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ :

(1) (คำกริยา) สนทนาหรือสอบถามเพื่อนำเรื่องราวไปเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์หรือวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น เช่น เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์สัมภาษณ์นายกราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับความเป็นมาของราชบัณฑิตยสถาน.

(2) (คำนาม) การพบปะสนทนากันในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องการทราบเรื่องจากอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อนำไปเผยแพร่ เรียกว่า ผู้สัมภาษณ์ และอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องการจะแถลงข่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้สัมภาษณ์.

(3) การสอบท่วงทีวาจาและไหวพริบ พิจารณาดูชั้นเชิงและความสามารถของผู้เข้าสอบ ว่าจะเป็นผู้เหมาะสมตามที่ต้องการหรือไม่ เรียกว่า สอบสัมภาษณ์. 

…………..

ชอบ “สัมพาธะ” หรือ “สัมพาธ” เลือกใช้ตามอัธยาศัยเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าใจกว้างเกินไป

: แต่อย่าใจแคบ

#บาลีวันละคำ (4,402)

1-7-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *