บาลีวันละคำ

สีลัพพตปรามาส (บาลีวันละคำ 1,970)

สีลัพพตปรามาส

ถ้าวางก็ว่าง

อ่านว่า สี-ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มาด

แยกศัพท์เป็น สีล + พต + ปรามาส

(๑) “สีล” บาลีอ่านว่า สี-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + ปัจจัย

: สีลฺ + = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี

: สิ + = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้

นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

สีล” หมายถึง :

(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)

(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)

สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.

(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.

ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ศีล” ไว้ว่า –

ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา (ข้อ 1 ในไตรสิกขา, ข้อ 2 ในบารมี 10, ข้อ 2 ในอริยทรัพย์ 7, ข้อ 2 ในอริยวัฑฒิ 5)”

(๒) “พต

(ก) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

(ข) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

วต” หรือ “วตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

ในภาษาไทย คำที่ไปจาก “วต” หรือ “วตฺต” อีกคำหนึ่งคือ “พรต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรต : (คำนาม) กิจวัตร, การปฏิบัติ; มรรยาท, เขตแห่งความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, การสมาทานหรือประพฤติตามลัทธิศาสนา, การจําศีล (เช่น การเว้นบริโภค เว้นเมถุนธรรม); การสมาทานบริโภคอาหารอย่างเดียวเป็นนิตย์ (เช่น มธุพรต คือ การสมาทานกินแต่นํ้าผึ้ง); ข้อกําหนดการปฏิบัติทางศาสนาเพื่อข่มกายใจ มีศีลวินัยเป็นต้น เช่น บําเพ็ญพรต ทรงพรต ถือพรต, เรียกผู้บําเพ็ญพรต ว่า นักพรต. (ส. วฺรต; ป. วตฺต).”

(๓) “ปรามาส

บาลี อ่านว่า ปะ-รา-มา-สะ รากศัพท์มาจาก ปร (อื่น, สิ่งอื่น, อย่างอื่น) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + มสฺ (ธาตุ = จับต้อง) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ม-(สฺ) เป็น อา (มสฺ > มาส)

: ปร + อา + มสฺ = ปรามสฺ + = ปรามสณ > ปรามส > ปรามาส แปลตามศัพท์ว่า “การละเลยภาวะที่เป็นจริงเสียแล้วยึดถือโดยประการอื่น

ปรามาส” (ปุงลิงค์) ในบาลีหมายถึง การจับต้อง, การติดต่อ, ความรักชอบ, การเกาะติด, การอยู่ในอิทธิพลของ-, การติดต่อโดยทางสัมผัส (touching, contact, being attached to, hanging on, being under the influence of, contagion)

ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปรามาส” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ปรามาส ๑ [ปฺรา-มาด] : (คำกริยา) ดูถูก.

(2) ปรามาส ๒ [ปะ-รา-มาด] : (คำนาม) การจับต้อง, การลูบคลํา. (ป.).

ในที่นี้ “ปรามาส” ใช้ในความหมายตาม ปรามาส

การประกอบศัพท์ :

1) สีล + วต แปลง เป็น (วต > พต), ซ้อน พฺ ระหว่างศัพท์

: สีล + พฺ + วต > พต = สีลพฺพต > สีลัพพต (สี-ลับ-พะ-ตะ) แปลว่า ศีลและวัตร, ศีลและพรต

2) สีลพฺพต + ปรามาส = สีลพฺพตปรามาส (สี-ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มา-สะ) > สีลัพพตปรามาส แปลว่า การจับต้องด้วยอำนาจศีลและวัตร, การยึดมั่นในศีลและพรต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สีลพฺพตปรามาส” ว่า the contagion of mere rule and ritual, the infatuation of good works, the delusion that they suffice (การเกี่ยวข้องอยู่เฉพาะในกฎและพิธี, การลุ่มหลงการกระทำที่ดี, ความเข้าใจผิดว่าพอเพียงแล้ว)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สีลัพพตปรามาส” เป็นอังกฤษดังนี้ –

Sīlabbataparāmāsa : adherence to mere rules and rituals; clinging to rules and vows; overestimation regarding the efficacy of rules and observances.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ไขความไว้ดังนี้ –

สีลัพพตปรามาส : ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงายหรืออย่างงมงายก็ตาม), ความถือศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง, ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่าจะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนี้ล่วงธรรมดาวิสัย (ข้อ 3 ในสังโยชน์ 10, ข้อ 6 ในสังโยชน์ 10 ตามนัยพระอภิธรรม).

………….

สีลัพพตปรามาส” เป็น 1 ในกิเลส 3 ตัวที่พระอริยบุคคลชั้นต้นคือพระโสดาบันจะต้องละได้เด็ดขาด คือ –

(1) สักกายทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตัวของตน” = เห็นว่ามีตัวตนที่จะอยู่เสพสุขถาวรในภพภูมินั้นๆ แม้แต่ในพระนิพพาน

(2) วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย” = สงสัยในกรรมดีกรรมชั่ว, ไม่แน่ใจในหนทางปฏิบัติว่าอะไรถูกอะไรผิด

(3) สีลัพพตปรามาสความถือมั่นศีลพรต” = ถือความขลังความศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะต่างๆ รวมทั้งถือว่าเพียงรักษาศีลปฏิบัติกิจวัตรก็อาจบรรลุธรรมได้

คำว่า “สีลัพพตปรามาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

อภิปราย :

สีลัพพตปรามาส” ที่อาจพบเห็นได้ง่ายในหมู่คนไทยคือ “การถือ” บางอย่าง เช่น –

ห้ามเผาผีวันศุกร์-โกนจุกวันเสาร์ ห้ามตัดผมวันพุธ

เห็นผีพุ่งไต้ (ดาวตก) ห้ามทัก (ถ้าทัก วิญญาณในดาวนั้นจะไปเกิดในท้องหมา)

ยาต้มหรือน้ำมันที่ใช้ทารักษาโรค เมื่อรักษาหายแล้วให้ทิ้งเสีย ห้ามเก็บไว้ (ถ้าเก็บไว้จะมีคนป่วยอีก)

อายุลงท้ายด้วยเลข ๙ เช่น ๔๙ ๕๙ ๖๙ ให้ระวังเคราะห์ร้าย ถ้าเจ็บป่วยอาจเสียชีวิตได้ง่าย

เมื่อไปเผาศพ ห้ามหยิบดอกไม้จันทน์ให้กัน ต้องหยิบเองเฉพาะของตัว (หยิบให้ใคร เท่ากับยื่นความตายให้เขา)

ห้ามชมการจัดดอกไม้ประดับหีบศพว่าสวย

ห้ามชมพระเมรุมาศว่างาม

เมรุลอย (เมรุชั่วคราว) เมื่อเสร็จงานแล้วต้องรื้อ ห้ามตั้งไว้ต่อ

ฯลฯ

ฯลฯ

ถ้ารวบรวม “การถือ” ของคนไทยมาให้หมด น่าจะเป็นหนังสือเล่มโตๆ ได้หลายเล่ม

…………..

เรื่องประกอบ :

เล่ากันว่า ที่วัดแห่งหนึ่งมีเจดีย์บรรจุพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ไว้ในคูหาตอนบนของเจดีย์ มีบันไดแคบๆ ขึ้นไปไหว้พระธาตุ มีคำบอกกล่าวสืบกันมาช้านานว่า คนที่ขึ้นไปไหว้พระธาตุ เมื่อไหว้แล้วต้องถอยหลังลง ใครหันหน้าลงจะมีอันเป็น คนที่ขึ้นไปไหว้พระธาตุต่างก็ถอยหลังลงกันทุกคนตามความเชื่อ

ผู้คนเชื่อถือและปฏิบัติเช่นนี้สืบมาช้านาน

อยู่มาคราวหนึ่ง มีชายหนุ่มใจกล้าคนหนึ่งต้องการพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ จึงแอบขึ้นไปไหว้พระธาตุในเวลาปลอดคน ครั้นไหว้เสร็จก็หันหน้าลง เขาได้เห็นทองคำก้อนหนึ่งวางอยู่เหนือคานประตูคูหา จึงหยิบเอาไป

ว่ากันว่าทุกวันนี้คนที่ขึ้นไปไหว้พระธาตุแห่งนั้น เมื่อไหว้เสร็จก็ยังคงถอยหลังลงกันอยู่ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาช้านานนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่

: ไม่รู้ อย่าเพิ่งเชื่อ

————-

หมายเหตุ: ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเรื่องประกอบ

#บาลีวันละคำ (1,970)

31-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย