สัตตักขัตตุปรมะ (บาลีวันละคำ 4,411)
สัตตักขัตตุปรมะ
พระโสดาบันประเภทหนึ่ง-เกิดอีก 7 ครั้งเป็นอย่างมาก
ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน คือผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่พระนิพพาน มี 3 ประเภท คือ –
1. เอกพีชี เกิดอีกครั้งเดียว
2. โกลังโกละ เกิดอีก 2-3 ครั้ง
3. สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก 7 ครั้งเป็นอย่างมาก
…………..
“สัตตักขัตตุปรมะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺตกฺขตฺตุปรม” อ่านว่า สัด-ตัก-ขัด-ตุ-ปะ-ระ-มะ ประกอบด้วยคำว่า สตฺตกฺขตฺตุ + ปรม
(๑) “สตฺตกฺขตฺตุ”
รูปคำเดิมเป็น “สตฺตกฺขตฺตุํ” อ่านว่า สัด-ตัก-ขัด-ตุง ประกอบด้วยคำว่า สตฺต (7 > จำนวนเจ็ด) + ขตฺตุํ (จำนวนครั้ง numerals “times”) ซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์
: สตฺต + กฺ + ขตฺตุํ = สตฺตกฺขตฺตุํ แปลตามศัพท์ว่า “จำนวนเจ็ดครั้ง”
(๒) “ปรม”
อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ป + รมฺ = ปรม + ณ = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย
: ปร + ม = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้”
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”
ในที่นี้ “ปรม” คงรูปเป็น “ปรม”
สตฺตกฺขตฺตุํ + ปรม ลบนิคหิตที่ –ตุํ
: สตฺตกฺขตฺตุํ + ปรม = สตฺตกฺขตฺตุํปรม > สตฺตกฺขตฺตุปรม (สัด-ตัก-ขัด-ตุ-ปะ-ระ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการเข้าถึงภพเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง”
“สตฺตกฺขตฺตุปรม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัตตักขัตตุปรมะ”
ขยายความ :
ท่านแสดงบทวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ของคำว่า “สัตตักขัตตุปรมะ” ไว้ว่า –
…………..
สตฺตกฺขตฺตุปรโมติ สตฺตกฺขตฺตุํ ปรมา ภวุปปตฺติ อตฺตภาวคฺคหณํ ตโต ปรํ อฏฺฐมํ ภวํ นาทิยตีติ สตฺตกฺขตฺตุปรโม ฯ
คำว่า “สตฺตกฺขตฺตุปรโม” (สัตตักขัตตุปรมะ) มีอรรถวิเคราะห์ว่า การเข้าถึงภพ คือการถือเอาร่างกายเป็นกำเนิดของผู้นั้น มี 7 ครั้งเป็นอย่างมาก เขาไม่ถือเอาภพที่ 8 เกินไปจากภพที่ 7 นั้น ดังนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า “สัตตักขัตตุปรมะ” = ผู้มีการเกิดเจ็ดครั้งเป็นอย่างมาก
ที่มา: ปรมัตถมัญชุสา (มหาฎีกาของคัมภีร์วิสุทธิมรรค) ภาค 3 หน้า 654
…………..
มีพระพุทธพจน์แสดงลักณะของพระโสดาบันประเภท “สัตตักขัตตุปรมะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
กตโม จ ปุคฺคโล สตฺตกฺขตฺตตปรโม
บุคคลชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะเป็นไฉน?
อิเธกจฺโจ ปุคฺคโล ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปริกฺขยา โสตาปนฺโน โหติ อวินิปาตธมฺโม นิยโต สมฺโพธิปรายโน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปแห่งสัญโญชน์ทั้ง 3 เป็นโสดาบัน มีอันไม่ไปเกิดในอบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า
โส สตฺตกฺขตฺตต เทเว จ มานุเส จ สนฺธาวิตฺวา สํสริตฺวา ทุกฺขสฺสนฺตํ กโรติ
บุคคลนั้นจะเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลกและมนุษยโลก 7 ชาติแล้วทำที่สุดทุกข์ได้
อยํ วุจฺจติ ปุคฺคโล สตฺตกฺขตฺตตปรโม ฯ
บุคคลนี้เรียกว่า สัตตักขัตตุปรมะ
ที่มา: ปุคคลปัญญัตติ อภิธรรมปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 36 ข้อ 47
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
สัตตักขัตตุปรมะ : พระโสดาบัน ซึ่งจะไปเกิดในภพอีก ๗ ครั้ง เป็นอย่างมากจึงจะได้บรรลุพระอรหัต (ข้อ ๓ ในโสดาบัน ๓)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำบุญ ร้อยครั้งก็น้อยเกินไป
: ทำบาป ครั้งเดียวก็มากเกินไป
#บาลีวันละคำ (4,411)
10-7-67
…………………………….
…………………………….