บาลีวันละคำ

สมณพราหมณ์ (บาลีวันละคำ 4,413)

สมณพราหมณ์

งามที่การปฏิบัติขัดเกลา

อ่านว่า สะ-มะ-นะ-พฺราม

ประกอบด้วยคำว่า สมณ + พราหมณ์

(๑) “สมณ” 

อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

ข้อสังเกต: ศัพท์ที่ลง ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน มักจะเป็นนปุงสกลิงค์ แต่ที่เป็นปุงลิงค์ก็มีบ้าง เช่น “สมณ” ศัพท์นี้เป็นต้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สมณะ : ‘ผู้สงบ’ หมายถึงนักบวชทั่วไป แต่ในพระพุทธศาสนา ท่านให้ความหมายจำเพาะ หมายถึงผู้ระงับบาป ได้แก่พระอริยบุคคล และผู้ปฏิบัติเพื่อระงับบาป ได้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอริยบุคคล.”

(๒) “พราหมณ์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “พฺราหฺมณ” อ่านว่า พฺรา-หฺมะ-นะ รากศัพท์มาจาก พฺรหฺม + ปัจจัยและธาตุ

(1) “พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + (มะ) ปัจจัย 

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พฺรหฺม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

ในที่นี้ “พฺรหฺม” มีความหมายตามข้อ (2) ที่เพิ่งกล่าวนี้ หรือข้อ (4) ข้างต้น

(2) พฺรหฺม + ปัจจัยและธาตุ

(ก) พฺรหฺม + ปัจจัย, ลบ , ลง อาคมท้ายศัพท์แล้วแปลง เป็น , ทีฆะ อะ ที่ พฺร-(หฺม) เป็น อา (พฺรหฺม > พฺราหฺม)

: พฺรหฺม + = พฺรหฺมณ > พฺรหฺม + = พฺรหฺมน > พฺรหฺมณ > พฺราหฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของพรหม” 

(ข) พฺรหฺม (มนต์) + อณฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ พฺร-(หฺม) เป็น อา (พฺรหฺม > พฺราหฺม)

: พฺรหฺม + อณฺ = พฺรหฺมณฺ + = พฺรหฺมณณ > พฺรหฺมณ > พฺราหฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สาธยายมนต์” 

พฺราหฺมณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง (1) คนวรรณะพราหมณ์ (a member of the Brahman caste) (2) พราหมณาจารย์ (a Brahman teacher)

ในภาษาไทยใช้เป็น “พราหมณ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “พราหมณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พราหมณ-, พราหมณ์ ๑ : (คำนาม) คนในวรรณะที่ ๑ แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมี ๔ วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร, ผู้ที่ถือเพศไว้ผม นุ่งขาวห่มขาว เช่น พราหมณ์ปุโรหิต พราหมณ์พฤฒิบาศ. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

พราหมณ์ : คนวรรณะหนึ่งใน ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร; พราหมณ์เป็นวรรณะนักบวชและเป็นเจ้าพิธี ถือตนว่าเป็นวรรณะสูงสุด เกิดจากปากพระพรหม.”

สมณ + พฺราหฺมณ + สมณพฺราหฺมณ (สะ-มะ-นะ-พฺรา-หฺมะ-นะ) แปลทับศัพท์ว่า “สมณะและพราหมณ์

สมณพฺราหฺมณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สมณพราหมณ์” อ่านว่า สะ-มะ-นะ-พฺราม

คำว่า “สมณพราหมณ์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า 

…………..

สมณพราหมณ์ : สมณะและพราหมณ์ (เคยมีการสันนิษฐานว่าอาจแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า พราหมณ์ผู้เป็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้ถือบวช แต่หลักฐานไม่เอื้อ)

…………..

คำว่า “สมณพราหมณ์” (สมณพฺราหฺมณ) ในคัมภีร์บาลี เท่าที่ตรวจสอบดูแล้วมักใช้เป็นคำเรียกนักบวชทั่วไป ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นนักบวชในศาสนาหรือลัทธิไหน

ถ้าแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ชาววัดคือนักบวชกลุ่มหนึ่ง กลุ่มนักบวชนี่แหละใช้คำเรียกรวมว่า “สมณพราหมณ์

แถม :

ราคโทสปริกฺลิฏฺฐา

เอเก สมณพฺราหฺมณา

อวิชฺชานีวุตา โปสา

ปิยรูปาภินนฺทิโน,

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง

เศร้าหมองเพราะราคะและโทสะ

เป็นคนที่ถูกอวิชชาหุ้มห่อ

เพลิดเพลินรูปที่น่ารัก

สุรํ ปิวนฺติ เมรยํ

ปฏิเสวนฺติ เมถุนํ

รชตํ ชาตรูปญฺจ

สาทิยนฺติ อวิทฺทสู,

พวกหนึ่งดื่มสุราเมรัย

พวกหนึ่งเสพเมถุน

พวกหนึ่งยินดีเงินและทอง

เป็นคนเขลาเบาปัญญา

มิจฺฉาชีเวน ชีวนฺติ

เอเก สมณพฺราหฺมณา

เอเต อุปกฺกิเลสา วุตฺตา

พุทฺเธนาทิจฺจพนฺธุนา,

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง

ดำรงชีพอยู่โดยมิจฉาชีพ

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์

ตรัสว่าเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ –

เยหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐา

เอเก สมณพฺราหฺมณา

น ตปนฺติ น ภาสนฺติ

อสุทฺธา สรชา มิคา,

เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง

ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส

ไม่บริสุทธิ์ มีกิเลสธุลี ดุจเนื้อถึก

อนฺธกาเรน โอนทฺธา

ตณฺหาทาสา สเนตฺติกา

วฑฺเฒนฺติ กฏสึ โฆรํ

อาทิยนฺติ ปุนพฺภวนฺติ.

ถูกความมืดรุมรัด

เป็นทาสตัณหา มีกิเลสนำให้เกิดอีก

ย่อมเพิ่มพูนสถานทิ้งซากศพให้มากขึ้น

(คือเกิด ๆ ตาย ๆ ทับถมโลก)

ย่อมถือเอาภพใหม่ต่อไป

ที่มา: วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 635

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชาวบ้านทำอย่างชาววัด ไม่เสีย

: ชาววัดทำอย่างชาวบ้าน ไม่ดี

#บาลีวันละคำ (4,413)

12-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *