ประพาส (บาลีวันละคำ 4,415)
ประพาส
พจนานุกรมฯ ลืมนึกถึงคำบาลี
“ประพาส” เป็นคำกริยาราชาศัพท์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประพาส : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ไปต่างถิ่นหรือต่างแดน เช่น ประพาสหัวเมือง ประพาสยุโรป, ไปเที่ยว เช่น ประพาสป่า. (ส.).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ประพาส” เป็นคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรวาส” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรวาส : (คำนาม) ‘ประวาส,’ ที่อาศรัยชั่วคราว, ที่อาศรัยอันไกลจากบ้าน; a temporary residence, a habitation away from home.”
และมีคำว่า “ปฺรวาสน” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
“ปฺรวาสน : (คำนาม) ‘ประวาสน์,’ การอาศรัยอยู่ในต่างประเทศ; การฆ่า, การประหาร; การเนรเทศ; dwelling in a foreign country; killing, slaughter; exile.”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ประพาส” เป็นคำสันสกฤต แต่ไม่ได้บอกว่า บาลีเป็น “ปวาส”
สันสกฤต “ปฺรวาส” บาลีเป็น “ปวาส” (ปะ-วา-สะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วสฺ (ธาตุ = อยู่, พักอาศัย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วส > วาส)
: ป + วสฺ = ปวสฺ + ณ = ปวสณ > ปวส > ปวาส แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ข้างหน้า” “การออกไปอยู่ (ข้างนอก)” หมายถึง การพักแรม, การไปจากบ้าน (sojourning abroad, being away from home)
คำกริยาของ “ปวาส” คือ “ปวสติ” (ปะ-วะ-สะ-ติ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปวสติ” ว่า to “live forth,” i. e. to be away from home, to dwell abroad (“อยู่ข้างนอกโน้น”, คือ ไปจากบ้าน, อาศัยอยู่นอกบ้าน)
สรุป :
ไทย: ประพาส = ไปต่างถิ่นหรือต่างแดน เช่น ประพาสหัวเมือง ประพาสยุโรป, ไปเที่ยว เช่น ประพาสป่า.
สันสกฤต: ปฺรวาส = ที่อาศรัยชั่วคราว, ที่อาศรัยอันไกลจากบ้าน; a temporary residence, a habitation away from home.
บาลี: ปวาส = การพักแรม, การไปจากบ้าน (sojourning abroad, being away from home)
…………..
ดูก่อนภราดา!
คาเม วา ยทิ วารญฺเญ
นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ
ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.
ในเมืองหรือในป่า
ที่ลุ่มคงคาหรือแดนดอน
อันผู้ทรงศีลสังวรสว่างกิเลสสถิตสำราญ
ย่อมเป็นรมณียสถานทั้งสิ้นแล
ที่มา: สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 921
#บาลีวันละคำ (4,415)
14-7-67
…………………………….
…………………………….