บาลีวันละคำ

ปรีชา อัปรีซ่า (บาลีวันละคำ 4,418)

ปรีชา อัปรีซ่า

คนละคำเดียวกัน?

ปรีชา” มาจากภาษาอะไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปรีชา : (คำนาม) ปัญญาสามารถ, ความรอบรู้จัดเจน. (ส. ปริชฺญา; ป. ปริญฺญา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำว่า “ปรีชา” สันสกฤตเป็น “ปริชฺญา” บาลีเป็น “ปริญฺญา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปรีชญา” (อ่านว่า ปฺรีด-ยา) ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า –

ปรีชญา : (คำแบบ) (คำนาม) ปรีชา เช่น อันประกอบด้วยจักษุคือปรีชญา. (นันโท). (ส. ปริชฺญา).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มือค้นหาคำในสันสกฤต ไม่ได้เก็บคำที่สะกดเป็น “ปริชฺญา” ไว้ จึงไม่ทราบว่า “ปริชฺญา” ในสันสกฤตมีความหมายว่าอย่างไร

คำว่า “ปรีชญา” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า ปฺรีด-ยา ลองออกเสียงว่า ปฺรีด-ยา จะได้ยินเสียงใกล้เคียงกับ ปฺรี-ชา แฝงอยู่ในเสียง ปฺรีด-ยา คงเป็นเพราะเสียงที่ได้ยินเช่นนั้นนี่เอง เราจึงเอาคำว่า “ปริชฺญา” มาสะกดเป็น “ปรีชา” ซึ่งออกเสียงสะดวกกว่า ปฺรีด-ยา

ไทย “ปรีชา” บาลีเป็น “ปริญฺญา” (มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปะ-ริน-ยา รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ, ลบ กฺวิ

: ปริ + ญฺ + ญา = ปริญฺญา + กฺวิ = ปริญฺญากฺวิ > ปริญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “การรู้โดยรอบ” (2) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้รอบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริญฺญา” ว่า accurate or exact knowledge, comprehension, full understanding (ความรู้ที่ถูกต้องหรือถ่องแท้, ความเข้าใจ, ความรอบรู้) 

บาลี “ปริญฺญา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปริญญา” (ไม่มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปะ-ริน-ยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริญญา : (คำนาม) ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ; ชั้นความรู้ขั้นมหาวิทยาลัยซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามที่กําหนดไว้, ถ้าประสาทแก่ผู้ทรงวิทยาคุณหรือผู้มีเกียรติตามที่เห็นสมควร เรียกว่า ปริญญากิตติมศักดิ์. (ป.; ส. ปริชฺญา).”

ขยายความ :

ปริญญา” ในพระพุทธศาสนามี 3 อย่าง พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [92] บอกความหมายไว้ดังนี้ –

…………..

ปริญญา 3 (การกำหนดรู้, การทำความรู้จัก, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน — Pariññā: full understanding; diagnosis)

1. ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว, กำหนดรู้ขั้นรู้จัก, กำหนดรู้ตามสภาวลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง พอให้ชื่อว่าได้เป็นอันรู้จักสิ่งนั้นแล้ว เช่นรู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น — Ñāta-pariññā: full knowledge as the known; diagnosis as knowledge)

2. ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา, กำหนดรู้ขั้นพิจารณา, กำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือ ทำความรู้จักสิ่งนั้นพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่าเวทนาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนี้เป็นต้น — Tīraṇapariññā: full knowledge as investigating; diagnosis as judgment)

3. ปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละ, กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, กำหนดรู้โดยตัดทางมิให้ฉันทราคะเกิดมีในสิ่งนั้น คือรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ละนิจจสัญญาเป็นต้น ในสิ่งนั้นเสียได้ — Pahāna-pariññā: full knowledge as abandoning; diagnosis as abandoning)

…………..

แถม :

คำว่า “ปรีชา” ออกสำเนียงถิ่น-อีสานเป็น “ปรีซา” (ช ช้าง เป็น ซ โซ่) เน้นหางเสียงขึ้นนิดหนึ่งจะเป็น “ปรีซ่า

เคยมีคดีความ มีคนไม่ชอบหน้าคนชื่อ “ปรีชา” เอาชื่อไปพูดล้อเป็นเชิงตำหนิว่า “ไอ้อัปรีซ่า” คือเติม “อั-” เข้าข้างหน้า “ปรี” เป็น “อัปรี” เสียงตรงกับคำว่า “อัปรีย์” ที่มีความหมายว่า ระยํา, จัญไร, เลวทราม, ตํ่าช้า, ชั่วช้า, ไม่เป็นมงคล แต่สะกดเป็น “อัปรีซ่า” (อัปรีย์ + ปรีซ่า = อัปรีซ่า) เจตนาจะให้มีความหมายว่า คนที่ชื่อปรีชาคนนั้นเป็นคนอัปรีย์ 

เจ้าของชื่อ “ปรีชา” คนนั้นนำเรื่องไปฟ้องศาล อ้างในคำฟ้องว่า ชื่อ “ไอ้อัปรีซ่า” กับชื่อ “ปรีชา” เป็นคำพ้องเสียงกัน มีพยานยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ศาลรับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีมีมูล

…………..

“คำพ้อง” ที่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มี 3 คำ ดังนี้ –

(1) คำพ้องความ : (คำนาม) คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น โคกับวัว ควายกับกระบือ มนุษย์กับคน, ไวพจน์ ก็ว่า.

(2) คำพ้องรูป : (คำนาม) คำที่เขียนเหมือนกันแต่มีความหมายต่างกัน เช่น ขัน (น้ำ) กับ (ไก่) ขัน คู (ร่องน้ำ) กับ (นกเขา) คู.

(3) คำพ้องเสียง : (คำนาม) คำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น ใส-ไส-ไสยกาน-กาล-การ-การณ์, (คำโบราณ) ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เรียกคำพ้องเสียงว่า ไวพจน์.

“อัปรีซ่า” กับ “ปรีชา” เป็นคำพ้องเสียงกันตรงไหน?

ผู้รักเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาถิ่นพึงศึกษาหาคำตอบกันต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้คำให้รู้จักแยบยล

: ใช้คนให้รู้จักยืดหยุ่น

#บาลีวันละคำ (4,418)

17-7-6

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *