บาลีวันละคำ

กลฺลกายา (บาลีวันละคำ 4,419)

กลฺลกายา

คำที่วัดราคาของนักเรียนบาลี

อ่านว่า กัน-ละ-กา-ยา

แยกศัพท์เป็น กลฺล + กายา 

(๑) “กลฺล

อ่านว่า กัน-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) กลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, “ลบสระที่สุดธาตุ” คือลบ อะ ที่ (ก)-ลฺ (ตามสูตรที่ว่าพยัญชนะทุกตัวมีสระอาศัยอยู่ ต้องลบสระตัวนั้นเสียก่อนจึงจะเอาพยัญชนะตัวอื่นมาต่อข้างท้ายได้)

: กลฺ + = กลฺล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไปตามสบายในทุกอิริยาบถ

(2) กลฺย (ความไม่มีโรค) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ลฺย เป็น ลฺล

: กลฺย + = กลฺยณ > กลฺย > กลฺล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำรงอยู่ในความไม่มีโรคคือความทนทานได้ตลอดกาล

กลฺล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สบาย, มีสุขภาพดี, แข็งแรง (well, healthy, sound) 

(2) ฉลาด, สามารถ, ชำนิชำนาญ (clever, able, dexterous) 

(3) เรียบร้อย, พร้อม (ready, prepared) 

(4) เหมาะ, สมควร, ถูกต้อง (fit, proper, right) 

(๒) “กายา” 

รูปคำเดิมเป็น “กาย” อ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > )

: กุ > + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย

(2) (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + (อะ) ปัจจัย

: + อายฺ = กายฺ + = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย

(3) กาย (ร่างกาย) + ปัจจัย, ลบ  

: กาย + = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)

กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาย, กาย– : (คำนาม) ตัว เช่น ไม่มีผ้าพันกาย, มักใช้เข้าคู่กับคำ ร่าง เป็น ร่างกาย, ใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า หมู่, พวก, เช่น พลกาย = หมู่ทหาร. (ป., ส.).”

กลฺล + กาย = กลฺลกาย (กัน-ละ-กา-ยะ) แปลว่า “มีร่างกายแข็งแรง” หรือ “มีร่างกายสดชื่น” 

กลฺลกาย” ใช้เป็นคุณศัพท์ของ “ภิกฺขู” (ภิกษุทั้งหลาย) ซึ่งเป็นพหุวจนะ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “กลฺลกายา” (กัน-ละ-กา-ยา)

ขยายความ :

คำว่า “กลฺลกายา” ที่ยกมานี้ปรากฏในพระไตรปิฎกเรื่องต้นเหตุที่ถวายผ้าอาบน้ำฝน 

เรื่องโดยสรุปคือ นางวิสาขาไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านในวันรุ่งขึ้น 

ครั้นตอนเช้า ฝนตกลงมาห่าใหญ่ พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุสรงน้ำฝน ภิกษุทั้งหลายเปลือยกายสรงน้ำฝน 

นางวิสาขาเตรียมภัตตาหารเรียบร้อยแล้วก็สั่งสาวใช้ให้ไปแจ้งแก่ภิกษุว่า ภัตตาหารเสร็จแล้ว นิมนต์ไปที่บ้านได้ 

สาวใช้ไปเห็นภิกษุเปลือยกายสรงน้ำฝน ก็กลับไปบอกนางวิสาขาว่า ในวัดไม่มีพระ มีแต่ชีเปลือย นางวิสาขาบอกสาวใช้ให้กลับไปบอกท่านอีกที 

เมื่อสาวใช้กลับไปที่วัดเป็นครั้งที่ 2 ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำฝนพอแก่ความต้องการแล้วก็กลับเข้ากุฏิไปหมด สาวใช้ไปถึงวัด ไม่เห็นภิกษุสักรูป ก็กลับไปบอกนางวิสาขาว่า ในวัดไม่มีพระ นางวิสาขาก็บอกสาวใช้ให้กลับไปบอกภิกษุเป็นครั้งที่ 3 พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จึงเสด็จไปที่บ้านนางวิสาขา

นางวิสาขากราบทูลพระพุทธองค์ว่า ภิกษุเปลือยกายสรงน้ำเป็นภาพที่ไม่น่าดู จึงขอพุทธานุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝนซึ่งภิกษุยังไม่เคยมีใช้มาก่อน พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต นางวิสาขาจึงเป็นคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝน

…………..

https://84000.org/tipitaka/read/?5/153

…………..

https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=39

…………..

ข้อความตอนที่บรรยายว่า ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำฝนพอแก่ความต้องการแล้วก็กลับเข้ากุฏิ ต้นฉบับบาลีในพระไตรปิฎกว่าดังนี้ –

…………..

อถโข  เต  ภิกฺขู  คตฺตานิ  สีติกริตฺวา  กลฺลกายา  จีวรานิ  คเหตฺวา  ยถาวิหารํ  ปวิสึสุ  ฯ 

ที่มา: จีวรขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 153

…………..

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลว่า –

…………..

ครั้นเวลาต่อมา ภิกษุเหล่านั้นทำตัวให้เย็น มีกายงาม ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม

…………..

พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแปลว่า –

…………..

สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม

…………..

คำว่า “กลฺลกายา” : 

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลว่า “มีกายงาม

พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ แปลว่า “นุ่งผ้าเรียบร้อย

คำว่า “กลฺลกายา” คัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัยไขความไว้ว่า –

…………..

กลฺลกายาติ  อกิลนฺตกายา  ปีติโสมนสฺเสหิ  ผุฏฺฐสรีรา  ฯ

ที่มา: สารัตถทีปนี ภาค 4 หน้า 303

…………..

ในคำไขความนั้น คำว่า “อกิลนฺตกายา” แปลตามศัพท์ว่า “ร่างกายไม่ลำบาก” ตรงกับที่เราพูดกันว่า อาบน้ำแล้วสบายตัว 

คำว่า “ปีติโสมนสฺเสหิ  ผุฏฺฐสรีรา” แปลตามศัพท์ว่า “มีสรีระอันปีติและโสมนัสทั้งหลายกระทบแล้ว” หมายความว่า ปีติโสมนัสแผ่ซ่านไปทั่วเรือนร่าง คือร่างกายสดชื่น

คำว่า “กลฺลกายา” จึงกลั่นความหมายออกมาได้ว่า “ร่างกายสดชื่น

กลฺล = สดชื่น (ดูความหมายของ “กลฺล” ข้างต้น)

กายา = ร่างกาย

กลฺลกายา = มีกายงาม

กลฺลกายา = นุ่งผ้าเรียบร้อย

กลฺลกายา = ร่างกายสดชื่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กลฺลกาย” ว่า sound [in body], refreshed (แข็งแรง [ในร่างกาย], มีความสดชื่น) 

นี่คือปัญหาที่ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกจากฉบับแปลเป็นไทยจะต้องเผชิญ คือคำแปลที่ต่างกันย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจต่างกัน ภาพในความคิดคำนึงก็ต่างกันออกไป แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำแปลอย่างไหนถูก อย่างไหนไม่ถูก 

แล้วถ้าเป็นคำที่ว่าด้วยตัวหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติโดยตรง คำแปลที่ตางกันเช่นนี้จะก่อให้เกิดความสับสนในหลักคำสอนมากไปอีกสักเพียงไร

นี่คืองานของนักเรียนบาลี 

เห็นหรือยังว่า เรียนบาลีไม่ใช่จบแค่สอบได้แล้วก็ชื่นชมยินดีกันอยู่แค่นั้น ดังที่กำลังเป็นกันอยู่ แต่ต้องก้าวต่อไปให้ถึงงานบาลีซึ่งอยู่ที่พระไตรปิฎก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนจบหมอ ไม่รักษาคนป่วย ดังฤๅจะเป็นหมอที่ดี

: เรียนจบบาลี ไม่ทำงานบาลี จะเรียนให้เป็นดังฤๅ

#บาลีวันละคำ (4,419)

18-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *