บาลีวันละคำ

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ (บาลีวันละคำ 4,420)

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ

ใครพูดกับใคร

เป็นประโยคที่มีคำบาลี 4 คำ คือ “สุณาตุ” “เม” “ภนฺเต” “สงฺโฆ

(๑) “สุณาตุ

อ่านว่า สุ-นา-ตุ เป็นศัพท์ที่เรียกว่า “กิริยาอาขยาต” ในภาษาบาลี 

คำว่า “อาขยาต” อ่านว่า อา-ขะ-หฺยาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

“อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

……………..

สุณาตุ” รากศัพท์ตามสูตรก็คือ สุ (ธาตุ = ฟัง) + ณา ปัจจัยประจำหมวด สุ ธาตุ + ตุ ปัญจมีวิภัตติ (บอกความบังคับ) ปฐมบุรุษ (ประธานเป็นคำนามทั่วไป ไม่ใช่ I ไม่ใช่ You)

: สุ + ณา = สุณา + ตุ = สุณาตุ แปลว่า “จงฟัง” 

ในที่นี้ ประธานคือ “สงฺโฆ” แปลว่า อันว่าสงฆ์สุณาตุจงฟัง = สงฆ์จงฟัง 

(๒) “เม” 

เป็นศัพท์ที่แจกวิภัตติสำเร็จรูปแล้ว รูปศัพท์เดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ เป็นคำนามชนิดปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” (อุด-ตะ-มะ-) นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” แปลเป็นไทยว่า ข้าพเจ้า ฉัน กู ข้า เป็นต้น เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ) 

อมฺห” ศัพท์ เมื่อแจกด้วยวิภัตตินามก็จะเปลี่ยนรูปไปตามวิภัตตินั้น ๆ ที่เปลี่ยนรูปเป็น “เม” มี 3 วิภัตติ เป็นเอกพจน์ทั้ง 3 วิภัตติ คือ – (ดูภาพประกอบ)

– วิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) แปลว่า ด้วยฉัน โดยฉัน อันฉัน ตามฉัน เพราะฉัน มีฉัน

– วิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) แปลว่า แก่ฉัน เพื่อฉัน ต่อฉัน

– วิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) แปลว่า แห่งฉัน ของฉัน เมื่อฉัน

ในที่นี้ “เม” เป็นฉัฏฐีวิภัตติ แปลว่า “ของฉัน

พึงสังเกตว่า คำแปลของ “เม” นั้น ใกล้เคียงกับ my หรือบางความหมายก็ me ในภาษาอังกฤษ

เม my me เสียงใกล้กัน นี่เป็นลักษณะหนึ่งของภาษาในตระกูล Indo-European

อมฺห” ศัพท์ เป็นได้ 2 ลิงค์ คือ ปุงลิงค์ และอิตถีลิงค์ แจกรูปเหมือนกันทั้งสองลิงค์ 

หลักที่ต้องรู้เกี่ยวกับ “เม” :

(1) หลักทั่วไป: ภาษาบาลีต้องเขียนแยกเป็นคำ ๆ แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ เมื่อ “เม” ไปอยู่ในข้อความใด ๆ จึงต้องเขียนแยกจากคำอื่น ไม่ใช่เขียนติดกัน เช่น 

– ภวนฺตุ  เม (จงมีแก่ข้าพเจ้า) 

ไม่ใช่ – ภวนฺตุเม

– ขมถ  เม  ภนฺเต (จงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดเจ้าข้า) 

ไม่ใช่ – ขมถเม  ภนฺเต

ในที่นี้ ต้องเขียนเป็น สุณาตุ  เม  ภนฺเต  สงฺโฆ

ไม่ใช่ สุณาตุเม  ภนฺเต  สงฺโฆ

(2) หลักเฉพาะ: คำว่า “เม” เมื่อเอาไปเรียงเข้าประโยคเป็นข้อความ จะไม่อยู่เป็นลำดับที่ 1 ของคำในประโยค กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะต้องมีคำอื่นอยู่ข้างหน้า “เม” เสมอ 

นอกจาก “เม” แล้ว ยังมีคำที่เป็นปุริสสรรพนามอีก 3 คำ ที่ห้ามอยู่เป็นลำดับที่ 1 คือ เต, โว, โน นักเรียนบาลีท่องจำเป็นคำคะนองว่า “เต, เม, โว, โน เป็นนักเลงโตไม่ได้” คือนำหน้าคำอื่นไม่ได้

(๓) “ภนฺเต” 

อ่านว่า พัน-เต เขียนแบบไทยเป็น “ภันเต” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

ภนฺเต” คำนี้ถ้าจะให้แสดงรากศัพท์ อาจบอกได้ว่า รูปคำเดิมเป็น “ภวนฺต” (พะ-วัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก ภว (ผู้เจริญ, ความเจริญ) + วนฺต ปัจจัย, ลบ ที่สุดศัพท์ (ภว >

: ภว + วนฺต = ภววนฺต > ภวนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเจริญ” “ผู้เจริญ” 

ภวนฺต” เมื่อใช้เป็น “อาลปนะ” (คำทัก, คำเรียก addressing) แปลงรูปเป็น “ภนฺเต” และถือว่าเป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” 

ภนฺเต” เป็นคำที่คู่กับ “อาวุโส” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอายุ” 

ภนฺเต” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่

อาวุโส” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย

ภนฺเต” เทียบคำอังกฤษ คือ Sir, venerable Sir 

(๔) “สงฺโฆ” 

รูปคำเดิมเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ (บาลีบางรุ่นสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ + หนฺ = สํหนฺ > สํฆ + = สํฆ > สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สงฆ์” ไว้ว่า – 

(๑) ภิกษุ เช่น ของสงฆ์ พิธีสงฆ์, บางทีก็ใช้ควบกับคำ พระ หรือ ภิกษุ เป็น พระสงฆ์ หรือ ภิกษุสงฆ์ 

(๒) ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปร่วมกันทำสังฆกรรม

ขยายความแทรก :

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย 

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้ 

ในที่นี้ “สงฺฆ” หมายถึงชุมนุมภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป

สงฺฆ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สงฺโฆ” 

…………..

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” เป็นประโยคภาษาบาลี แปลยกศัพท์ดังนี้ –

ภนฺเต = ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

สงฺโฆ = อันว่าสงฆ์

สุณาตุ = จงฟัง

(วจนํ ซึ่งคำ) เม = ของข้าพเจ้า

แปลรวมความว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

ขยายความ :

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” เป็นคำขึ้นต้นเมื่อภิกษุรูปหนึ่งเริ่มประกาศข้อความเพื่อให้หมู่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปรับฟัง พอจะเทียบได้กับคำขึ้นต้นเมื่อจะพูดในที่ประชุม เช่น ท่านประธานที่เคารพ ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทุกท่าน หรือที่นักการเมืองนิยมใช้เมื่อขึ้นเวทีหาเสียงว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย”

ผู้ที่เข้าไปนั่งดูพิธีอุปสมบทในโบสถ์ ถ้าตั้งใจฟังให้ดีจะได้ยินพระคู่สวดสวดข้อความว่า “สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” หลายครั้ง นั่นคือพระคู่สวดกำลังเริ่มประกาศให้สงฆ์ที่ร่วมสังฆกรรมอุปสมบทอยู่ในที่นั้นได้ทราบเรื่องสำคัญในขั้นตอนต่าง ๆ ของการอุปสมบท

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” เป็นคำที่ภิกษุพูดกับสงฆ์ หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นคำที่พระใช้พูดกับพระด้วยกัน ไม่ใช่คำที่ญาติโยมชาวบ้านใช้พูดกับพระ

ชาวบ้านพูดกับพระ จะใช้คำขึ้นต้นว่า “สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” ไม่ได้ ถือว่าผิดมารยาท

ชาวบ้านพูดกับพระ นิยมใช้คำขึ้นต้นว่า “ยคฺเฆ ภนฺเต สงฺโฆ ปฏิชานาตุ” (ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ) แปลความว่า “ขอประทานโทษท่านที่เคารพ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ” เช่นในคำถวายครุภัณฑ์ให้เป็นของสงฆ์-เช่นถวายเทียนพรรษา-เป็นต้น

ยคฺเฆ ภนฺเต” เป็นคำขึ้นต้นที่ผู้น้อยใช้พูดกับผู้ใหญ่ และบางกรณีพระพูดกับพระก็สามารถใช้คำขึ้นว่า “ยคฺเฆ ภนฺเต” ได้ด้วย เช่นคำขึ้นต้นคำอปโลกน์แจกภัตตาหารในการทำบุญวันพระเป็นต้น

แถม :

การจะรู้หลักนิยมในการใช้ถ้อยคำในภาษาบาลีต้องอาศัยประสบการณ์จากการศึกษาเรียนรู้ แต่ก็ใช่ว่าจะรู้หมดหรือรู้จบ ต้องใช้วิธีอ่านคัมภีร์ ค้นคัมภีร์ไปเรื่อย ๆ

ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำบอกว่า “ชาวบ้านพูดกับพระ จะใช้คำขึ้นต้นว่า “สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” ไม่ได้” นั้น หากนักเรียนบาลีท่านใดพบข้อความในคัมภีร์ที่ชาวบ้านพูดกับพระใช้คำขึ้นต้นว่า “สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ” ก็มี ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง จะได้ปรับแก้องค์ความรู้ให้ถูกต้องต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ขึ้นต้นดี สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: แต่โอกาสล้มเหลวก็ยังมีอีกครึ่งหนึ่ง

#บาลีวันละคำ (4,420)

19-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *