บาลีวันละคำ

อุปสัมปทาเปกขะ (บาลีวันละคำ 4,421)

อุปสัมปทาเปกขะ

อีกคำหนึ่งที่หมายถึง “นาค” ผู้เตรียมตัวบวช

อ่านว่า อุ-ปะ-สำ-ปะ-ทา-เปก-ขะ

แยกศัพท์เป็น อุปสัมปทา + เปกขะ

(๑) “อุปสัมปทา”

เขียนแบบบาลีเป็น “อุปสมฺปทา” อานว่า อุ-ปะ-สำ-ปะ-ทา รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม

: อุป + สํ + ปทฺ = อุปสํปทฺ + อ = อุปสํปท > อุปสมฺปท + อา = อุปสมฺปทา แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าถึงพร้อม” หมายถึง การบวชเป็นภิกษุ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปสมฺปทา” ว่า –

(1) taking, acquiring; obtaining, taking upon oneself, undertaking (การรับ, การได้มา; ความถึงพร้อม, การอุปสมบท, การยอมรับ)

(2) [in special sense] taking up the bhikkhuship, higher ordination, admission to the privileges of recognized bhikkhus ([ในความหมายพิเศษ] การบวชเป็นภิกษุ, การอุปสมบท, การได้รับอนุญาตให้เป็นภิกษุ)

“อุปสมฺปทา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปสัมปทา”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อุปสัมปทา” ไว้ดังนี้ –

…………..

อุปสัมปทา : การบวช, การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี; วิธีอุปสมบททั้งหมด ๘ อย่าง แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ อย่าง คือ

๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง

๒. ติสรณคมนูปสัมปทา หรือ สรณคมนูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทำในยุคต้นพุทธกาล เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก เมื่อทรงอนุญาตวิธีที่ ๓ แล้ววิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร

๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็นวิธีที่ใช้สืบมาจนทุกวันนี้.

…………..

(๒) “เปกขะ”

เขียนแบบบาลีเป็น “เปกฺข” อ่านว่า เปก-ขะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อิกฺขฺ (ธาตุ = มอง, ดู, เห็น) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ อิกฺข เป็น เอ

: ป + อิกฺขฺ = ปิกฺขฺ + อ = ปิกฺข > เปกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เพ่งมอง” หมายถึง คอยระวังดู คือ ตั้งใจ, ต้องการ (looking out for, i. e. intent upon, wishing)

อุปสมฺปทา + เปกฺข = อุปสมฺปทาเปกฺข (อุ-ปะ-สำ-ปะ-ทา-เปก-ขะ) แปลว่า “ผู้ต้องการบวชเป็นภิกษุ” หมายถึง ผู้ขอบวช

“อุปสมฺปทาเปกฺข” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปสัมปทาเปกขะ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

…………..

อุปสัมปทาเปกขะ : บุคคลผู้เพ่งอุปสมบท คือผู้มุ่งจะบวชเป็นภิกษุ, ผู้ขอบวชนาค

…………..

ขยายความ :

ผู้ที่เข้าไปนั่งดูพิธีอุปสมบทในโบสถ์ ถ้าตั้งใจฟังให้ดีจะได้ยินพระคู่สวดสวดคำว่า “อุปสมฺปทาเปกฺโข” หลายครั้ง นั่นคือพระคู่สวดระบุฐานะของผู้ขอบวชเป็นคำบาลีว่า “อุปสัมปทาเปกขะ” และจะระบุนามพระอุปัชฌาย์ควบคู่ไปด้วย มีความหมายว่า ผู้ขอบวชชื่อนี้เป็น “อุปสัมปทาเปกขะ” ของพระอุปัชฌาย์ชื่อนี้

“อุปสัมปทาเปกขะ” จึงเป็นคำเรียกผู้ขอบวชขณะที่กำลังอยู่ในพิธีบวช

เข้าใจไว้ง่าย ๆ ว่า “อุปสัมปทาเปกขะ” ก็คือผู้ที่เราเรียกกันว่า “นาค” นั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

“บวช” คือเข้าไปปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ถ้าปฏิบัติตามไม่ได้ : อย่าเข้าไป

เข้าไปแล้วถ้าปฏิบัติต่อไปไม่ไหว : ถอยออกมา

#บาลีวันละคำ (4,421)

20-7-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *