จูเฬกสาฎก (บาลีวันละคำ 4,422)
จูเฬกสาฎก
ผู้ชนะในยกสุดท้าย
อ่านว่า จู-เล-กะ-สา-ดก
แยกศัพท์เป็น จูฬ + เอก + สาฎก
(๑) “จูฬ”
คำนี้บาลีมักเป็น “จูฬา” (จู- สระ อู) รากศัพท์มาจาก –
(1) จูฬฺ (ธาตุ = งอกขึ้น) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จูฬ + อ = จูฬ + อา = จูฬา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งอกขึ้น”
(2) จิ (ธาตุ = สะสม) + ล ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อู (จิ > จู), แปลง ล เป็น ฬ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จิ + ล = จิล > จูล > จูฬ + อา = จูฬา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาสะสม”
“จูฬา” ใช้ในความหมาย 2 นัย คือ –
(1) นูน, โหนก; หน่อ, ปุ่ม, ยอด (swelling, protuberance; root, knot, crest)
(2) เล็ก, น้อย (small, minor)
ข้อสังเกต:
“จูฬา” อาจเพี้ยนรูปหรือเปลี่ยนรูปเป็น จุฬา (สระ อุ) จุฬ จูฬ และ จุลฺล ได้
แต่ในบาลีรูปที่คุ้นตา ถ้าหมายถึง ยอด จุก มักใช้เป็น “จูฬา”
ถ้าหมายถึง เล็ก น้อย มักใช้เป็น “จุลฺล” หรือ “จูฬ”
ในที่นี้ ใช้เป็น “จูฬ” หมายถึง เล็ก, น้อย
(๒) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอก, เอก– : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”
ในที่นี้ “เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว
(๓) “สาฎก”
บาลี “สาฏก” อ่านว่า สา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก สฏฺ (ธาตุ = เสียดแทง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ฏฺ) ต้นธาตุเป็น อา (สฏฺ > สาฏ)
: สฏฺ + ณฺวุ > อก = สฏก > สาฏก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสียดสีร่างกาย”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สาฏก” ว่า ผ้า, ผ้าสาฎก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาฏก” ว่า an outer garment, cloak; cloth (ผ้าสาฎก, เสื้อผ้าชั้นนอก, ผ้าคลุม; ผ้า)
บาลี “สาฏก” (-ฏก ฏ ปฏัก) ในภาษาไทยใช้เป็น “สาฎก” (-ฏก ฏ ชฎา) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาฎก : (คำนาม) ผ้า. (ป. สาฏก; ส. ศาฏก).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า สันสกฤตเป็น “ศาฏก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ศาฏก” และ “ศาฏี” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาฏก, ศาฏี : (คำนาม) ‘ศาฎก, ศาฎี,’ กังเกงชั้นใน; a petticoat, an under-skirt.”
โปรดสังเกตคำแปลของ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่บอกว่า a petticoat, an under-skirt (กังเกงชั้นใน) แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า an outer garment (เสื้อผ้าชั้นนอก)
“สาฏก” ที่ควรจะคุ้นกันดีคือผ้าที่คำบาลีเรียกว่า “วสฺสิกสาฏก” (วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผ้าที่พึงใช้ในฤดูฝน” คือ “ผ้าอาบน้ำฝน” เรียกสั้น ๆ ว่า “ผ้าอาบ” คนเก่า ๆ เรียก “ผ้าชุบอาบ” หรือ “ผ้าชุบสรง”
ผ้า “วสฺสิกสาฎก” นี้ ต้องถวายก่อนเข้าพรรษา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบน้ำในฤดูฝนคือในระหว่างจำพรรษา
อีกคำหนึ่งคือ “วสฺสาวาสิกสาฏก” (วัด-สา-วา-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบแล้ว” ภาษาไทยเรียกว่า “ผ้าจำนำพรรษา”
โปรดสังเกตว่า “อยู่จำพรรษาครบแล้ว” คือหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ก่อนเข้าพรรษา หรือระหว่างสามเดือนในพรรษา
ผ้า “วสฺสาวาสิกสาฏก” (ผ้าจำนำพรรษา) เป็นผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้วเพื่อให้พระภิกษุผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม ทำนองเดียวผ้ากฐินนั่นเอง
การประสมคำ :
๑ เอก + สาฏก = เอกสาฏก (เอ-กะ-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผ้าผืนเดียว” หรือ “ผู้มีผ้าผืนเดียว”
๒ จูฬ + เอกสาฏก = จูเฬกสาฏก (จู-เล-กะ-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผู้มีผ้าผืนเดียวคนเล็ก”
“จูเฬกสาฏก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จูเฬกสาฎก” (-ฎก ฎ ชฎา) อ่านว่า จู-เล-กะ-สา-ดก
หมายเหตุ :
คำว่า “คนเล็ก” แปลจากคำว่า “จูฬ” โดยเทียบกับคำว่า “มหา” ซึ่งแปลว่า “คนใหญ่” ทั้งนี้เพราะพราหมณ์ที่ได้นามว่า “เอกสาฏก” มี 2 คน คนหนึ่งเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามวิปัสสี เรียกว่า “มหาเอกสาฎก” คนหนึ่งเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าโคดมของเรานี้ เรียกว่า “จูเฬกสาฎก” เพื่อให้ต่างกัน
“มหาเอกสาฎก” = ผู้มีผ้าผืนเดียวคนใหญ่ หมายถึง พราหมณ์เอกสาฎกคนก่อน
“จูเฬกสาฎก” = ผู้มีผ้าผืนเดียวคนเล็ก หมายถึง พราหมณ์เอกสาฎกคนหลัง
ขยายความ :
“จูเฬกสาฎก” เป็นพราหมณ์ที่นักเรียนบาลีรู้จักกันดี พราหมณ์คนนี้ เป็นชาวเมืองสาวัตถี พราหมณ์กับภรรยาต้องใช้ผ้าสาฎก (ใช้ห่มเมื่อเวลาออกนอกบ้าน) ผืนเดียวกัน เนื่องจากยากจน ทั้งบ้านมีผ้าสาฎกผืนเดียว เพราะฉะนั้น พราหมณ์กับภรรยาจึงออกนอกบ้านพร้อมกันไม่ได้
วันหนึ่ง พราหมณ์จูเฬกสาฎกไปฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเปลื้องผ้าสาฎกที่มีอยู่ผืนเดียวนั้นออกบูชาธรรมหลังจากลังเลใจมาตั้งแต่หัวค่ำจนเที่ยงคืน มาชนะใจได้เอาตอนใกล้รุ่ง ได้เปล่งวาจาอันเป็นอมตะคือมีคนจำกันได้มากว่า –
ชิตํ เม ชิตํ เม
(ชิตัง เม ชิตัง เม)
เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว
พระพุทธองค์ทรงปรารภเรื่องนี้ตรัสพุทธภาษิตว่า –
…………..
อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ
ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ
ปาปสฺมึ รมตี มโน ฯ
พึงรีบเร่งกระทำความดี
และป้องกันจิตจากความชั่ว
เพราะเมื่อกระทำความดีช้าไป
ใจจะกลับยินดีในความชั่ว
Make haste in doing gook,
And check your mind from evil,
Whoso is slow in making merit-
His mind delights in evil.
ที่มา:
– ปาปวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 19 หน้า 30
– คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากหนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
โปรดศึกษารายละเอียดเรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎกได้จากธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5
…………..
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19&p=1
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ
: น่าภูมิใจกว่าสำเร็จแต่ไม่ได้พยายาม
#บาลีวันละคำ (4,422)
21-7-67
…………………………….
…………………………….