บาลีวันละคำ

สังเคราะห์ (บาลีวันละคำ 4,196)

สังเคราะห์

บาลีว่าอย่างไร

สังเคราะห์” อ่านว่า สัง-เคฺราะ เทียบเป็นบาลีตรงกับคำว่า “สงฺคห” อ่านว่า สัง-คะ-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คหฺ = สงฺคหฺ + = สงฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การจับยึดไว้พร้อมกัน” 

สงฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การรวม, การรวบรวม, การสะสม (collecting, gathering, accumulation) 

(2) การประกอบ, การเก็บรวบรวม, การกอปรด้วย, การจัดชั้นหรือประเภท (comprising, collection, inclusion, classification) 

(3) การรวม, การประกอบความรู้สึก, องค์ (inclusion, constitution of consciousness, phase) 

(4) การประมวล, การรวบรวมคัมภีร์ (recension, collection of the Scriptures) 

(5) อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour) 

บาลี “สงฺคห” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺรห” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สงฺคฺรห” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคฺรห : (คำนาม) ‘สังคระหะ, สงเคราะห์,’ รจนาและสังเขป; ปริคณนา, ปริสังขยา, นามาวลี, รายชื่อ; ปริมาณ, สมุหะ, คณะ; การระงับ; การหยิบฉวย-จับกุม-หรือถือเอา; ประสาทน์; การปรนปรือหรือให้ความสุขด้วยประการต่างๆ; การคุ้มครองหรือรักษา; ที่เก็บติปาฐะ; สัญญา; ความสูง; เวค, ความเร็ว; การกำหมัด; อุตสาหะ; compilation and abridgment; a catalogue, a list, a list of names; quantity, collection; restraining; seizing, laying hold of, or taking; propitiating, pleasing or satisfying; protecting or guarding; a place where anything is kept; agreement or contract; assent or promise; loftiness; velocity; clenching the fist; effort.”

บาลี “สงฺคห” สันสกฤต “สงฺคฺรห” ภาษาไทยปกติใช้เป็น “สงเคราะห์” (สง- ไม่ใช่ สัง-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สงเคราะห์ : (คำนาม) การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์. (คำกริยา) อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า. (ส. สงฺคฺรห; ป. สงฺคห).”

ในที่นี้ “สงฺคห” ในบาลี หรือ “สงฺคฺรห” ในสันสกฤต เอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “สังเคราะห์” (สัง- ไม่ใช่ สง-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังเคราะห์ : (คำที่ใช้ในวิชาเคมี) (คำกริยา) ทำให้ธาตุมีปฏิกิริยาเคมีกันเป็นสารประกอบ, ทำให้สารประกอบมีปฏิกิริยาเคมีกันเป็นสารประกอบอื่น. (คำวิเศษณ์) ที่สร้างขึ้นโดยกรรมวิธีทางเคมี เช่น ใยสังเคราะห์. (อ. synthesise).”

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สังเคราะห์” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า synthesise 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำว่า synthesis (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ สะกดเป็น synthesise) แปลเป็นไทยดังนี้:

1. การนำสิ่งใดๆ มาสร้างขึ้นเป็นรูป, การประกอบสิ่งต่างๆ ขึ้นเป็นตัว 

2. การสร้างคำสมาส 

3. การปะติดปะต่อ 

4. สังเคราะห์, การประกอบวัตถุ ที่ได้จากสัตว์และต้นไม้ เช่น น้ำตาล ยาง ขึ้นโดยทางเคมี

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี มีคำว่า synthesis แปลเป็นบาลีดังนี้: 

(1) saŋyoga สํโยค (สัง-โย-คะ) 

(2) saŋhitā สํหิตา (สัง-หิ-ตา) 

(3) sandhi สนฺธิ (สัน-ทิ) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำบาลีทั้ง 3 คำเป็นอังกฤษ ดังนี้:

(๑) สํโยค :

(1) bond, fetter (เครื่องผูกหรือสิ่งผูกพัน, พันธนาการ) 

(2) union, association (สหภาพ, สมาคม) 

(3) connection [within the sentence], construction (ความเกี่ยวเนื่อง [ภายในประโยค], การสร้าง) 

(๒) สํหิตา :

connected, equipped with, possessed of (เกี่ยวข้อง, ประกอบด้วย, มี) 

(๓) สนฺธิ :

(1) union, junction (การรวมกัน, การต่อกันเข้า) 

(2) breach, break, hole, chasm (รอยแยก, รอยแตก, ช่องโหว่, ช่องว่าง) 

(3) joint, piece, link (ข้อต่อ, ชิ้น, เครื่องเกี่ยวโยง) 

(4) connection, combination (การต่อเนื่องกัน, การรวมกัน) 

(5) euphonic junction, euphony (การต่อที่ทำให้เสียงดีขึ้น, ความไพเราะ ที่เกิดขึ้นด้วยเสียง) 

(6) agreement (การลงรอยหรือตกลงกัน)

โปรดสังเกตว่า –

(1) พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล synthesis เป็นบาลีว่า “สงฺคห” 

(2) คำแปลเป็นบาลีทั้ง 3 คำ คือ “สํโยค” “สํหิตา” และ “สนฺธิ” พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ก็ไม่ได้แปลเป็นอังกฤษว่า synthesis

เป็นอันว่า synthesis (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ สะกดเป็น synthesise) เป็นศัพท์เฉพาะในทางเคมี และคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของไทยบัญญัติเป็นคำไทยว่า “สังเคราะห์” (เข้าใจว่าเพื่อเลี่ยงคำว่า “สงเคราะห์” ซึ่งมีใช้อยู่แล้ว) 

ทั้ง “สังเคราะห์” และ “สงเคราะห์” เทียบเป็นบาลีคือ “สงฺคห” เทียบเป็นสันสกฤตคือ “สงฺคฺรห” 

แต่ “สังเคราะห์” เป็นศัพท์บัญญัติ ใช้ในความหมายตามที่ต้องการในภาษาไทยซึ่งอาจไม่ตรงกับความหมายเดิมในบาลีสันสกฤต อาจ “สังเคราะห์” เข้าในลักษณะอย่างหนึ่งของภูมิปัญญาไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพราะภาษาเป็นสิ่งสมมุติ

: จึงต้องเรียนรู้กันไม่สิ้นสุด จะได้ไม่ใช้ตามชอบใจตัวเอง

#บาลีวันละคำ (4,196)

8-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *