บาลีวันละคำ

อัตตา (บาลีวันละคำ 4,197)

อัตตา

หญ้าปากคอกตัวจริง

อ่านว่า อัด-ตา 

อัตตา” เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺตา” อ่านว่า อัด-ตา รูปคำเดิมเป็น “อตฺต” อ่านว่า อัด-ตะ มาจากรากศัพท์ดังนี้ :

(๑) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ปัจจัย

: อตฺ + = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้) 

(2) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ) 

(3) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(๒) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลง เป็น  

: อทฺ + = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

(2) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(๓) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > )และ อา ที่ ธา (ธา > ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ

: อา + ธา = อาธา + = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เขียนในภาษาไทยเป็น “อัตตา” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อัตตา” เป็นอังกฤดังนี้ –

1. self; soul; ego; personal entity.

2. mind; the whole personality.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อัตตา : (คำนาม) ตน. (ป.; ส. อาตฺมนฺ, อาตฺมา).”

ขยายความ :

ในทางไวยากรณ์บาลี “อตฺต” เป็นศัพท์พิเศษ รูปศัพท์เป็น อะ-การันต์ (ศัพท์เดิมที่ลงท้ายด้วยเสียง อะ) เป็นปุงลิงค์ แต่มีวิธีแจกเป็นพิเศษของตัวเอง ไม่ได้แจกอย่าง อะ-การันต์ ในปุงลิงค์ทั่วไป และที่เป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ แจกวิภัตติเป็นเอกวจนะ (เอกพจน์) อย่างเดียว ไม่มีพหุวจนะ (พหูพจน์) ในกรณีที่ต้องการแสดงความหมายเป็นพหุวจนะ ให้ใช้ควบกันเป็น 2 คำ เช่น อตฺตนา อตฺตนา, อตฺตโน อตฺตโน เป็นต้น

ในทางปรัชญา “อัตตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อัตตา” ไว้ดังนี้ –

…………..

อัตตา : ตัวตน, อาตมัน; ปุถุชนย่อมยึดมั่นมองเห็นขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดเป็นอัตตา หรือยึดถือว่ามีอัตตาเนื่องด้วยขันธ์ ๕ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง; เทียบ อนัตตา 

…………..

จะเข้าใจ “อัตตา” ได้ชัดขึ้น ควรเทียบกับ “อนัตตา” เพราะอนัตตามีความหมายตรงข้ามกับอัตตา เข้าใจอนัตตาก็จะช่วยให้เข้าใจอัตตาด้วย

ตามไปดูที่คำว่า “อนัตตา” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

อนัตตา : ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, ไม่เป็นไม่มีตัวตน; สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เป็นไม่มีอัตตา แต่เป็นสภาวะ ซึ่งมีภาวะของมันเอง ที่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน ไม่มีตัวตนอะไรที่จะเป็นเจ้าของครอบครอง หรือสั่งการบัญชา ให้เป็นไปอย่างใด ๆ ตามความปรารถนาของใคร ๆ

          “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ธรรมทั้งปวง คือ ทั้งสังขตธรรมคือสังขาร และอสังขตธรรมคือวิสังขาร เป็นอนัตตา คือไม่เป็นไม่มีตัวตน 

           ตัวอย่างในจำพวกสังขตธรรม เช่นคนพูดว่าแขนของตน หรือว่าแขนของตัวเขา ดังที่เขาสั่งบังคับแขนนั้นให้หยิบ ให้ยก ให้ทำอะไร ๆ ได้ตามปรารถนา แต่แท้จริงนั้น แขนนั้นเคลื่อนไหวเป็นไปต่าง ๆ อย่างนั้น ๆ ได้ ตามเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กัน ถ้าเหตุปัจจัยขาดหายหรือเป็นไปอย่างอื่น เช่น เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อเส้นเอ็นเสียหาย แม้เขาจะร่ำว่า “แขนของฉัน แขนของข้า” เขาก็สั่งบังคับแขนนั้นไม่ได้ มันเป็นของเขาตามที่ถือกันหรือยึดถือเท่านั้น ไม่เป็นของเขาจริง 

          ใคร ๆ ก็ไม่ได้ตามใจปรารถนาต่อสิ่งทั้งหลายที่เขาคิดยึดถือว่าเป็นตัวเขาเป็นของตัวเขา ว่ามันจงเป็นอย่างนี้ มันจงอย่าเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นตัวเขา เป็นของตัวเขา ตามที่ยึดถือหรือตกลงยอมรับกันเท่านั้น แต่เมื่อเขาต้องการให้อะไรเป็นอย่างไร เขาต้องเรียนรู้เข้าใจเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วปฏิบัติจัดทำที่เหตุปัจจัย 

          เมื่อรู้ความจริงว่ามันเป็นอนัตตา ว่ามันมีภาวะของมันเองแล้ว ก็จะไม่ทุกข์เมื่อสิ่งนั้น ๆ ไม่เป็นไปตามตัณหาที่อยากที่ปรารถนา แต่รู้ตรงไปที่เหตุปัจจัยว่าแก้ไขได้หรือไม่ได้ และแก้ไขจัดการที่เหตุปัจจัยนั้น ๆ.

…………..

จะเห็นได้ว่า “อัตตา” คำสั้น ๆ ดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เหมือนหญ้าปากคอก แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายอย่างที่เข้าใจ

แม้แต่เข้าใจแล้ว นั่นก็ยังเป็นเพียงความรู้ความเข้าใจ แต่การจะทำใจหรือทำความคิดให้คิดได้ตระหนักได้จริงประจักษ์ใจจริง ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งยากขึ้นไปอีก ส่วนมากจะเป็นอย่างที่ว่า-เข้าใจได้ พูดได้ อธิบายได้ แต่ทำไม่ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สิ่งที่เข้าไปยึดไว้

: จะไม่ทุกข์นั้นไม่มี

(นึกคำบาลีไม่ออก ใครนึกออกช่วยบอกที!)

#บาลีวันละคำ (4,197)

9-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *