บาลีวันละคำ

ปราณี (บาลีวันละคำ 4,198)

ปราณี

ไม่ใช่ ปรานี

อ่านว่า ปฺรา-นี

ปราณี” บาลีเป็น “ปาณี” อ่านว่า ปา-นี รากศัพท์มาจาก ปาณ + อี ปัจจัย

(๑) “ปาณ” บาลีอ่านว่า ปา-นะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ปาณฺ (ธาตุ = เป็นอยู่, มีชีวิต) + (อะ) ปัจจัย

: ปาณฺ + = ปาณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเป็นอยู่ได้แห่งเหล่าสัตว์” 

(2) (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อนฺ (ธาตุ = มีลมปราณ) + (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ -(นฺ) เป็น อา (อนฺ > อาน), แปลง เป็น  

: + อนฺ = ปนฺ + = ปน > ปาน > ปาณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องให้มีลมปราณ” 

ปาณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง คนหรือสัตว์ที่มีชีวิต, ชีวิต, สัตว์โลก (living being, life, creature) นักขบธรรมะให้จำกัดความว่า “สิ่งที่มีลมหายใจ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาณ-, ปาณะ : (คำนาม) ลมหายใจ; สัตว์มีชีวิต, ชีวิต. (ป.; ส. ปฺราณ).”

บาลี “ปาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺราณ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺราณ : (คำนาม) ‘ปราณ,’ เต็ม; full replete, filled; – น.ลมหายใจเช้า, ลมปราณ, ลมหายใจ; อากาศ, ลม; ชีวิต, ชีพน์หรือปราณศักติ์; ปราณินทรีย์, ปราเณนทรีย์, อินทรีย์อันเปนส่วนสำคัญ; พลศักดิ์, กำลัง; คันธรส, รสคนธ์; กวิตาศักดิ์, กาพยพุทธิ; นามพระพรหม; มหาปราณในการ ออกเสียงอักษรชัดเจน; ลมปราณทั้งห้า, หรือวิธีระบายลมหายใจเข้าและออก; inspiration, breath; air, wind; life, vitality; a vital organ or part; strength, power; myrrh; poetical genius, poetical talent; a name of Brahma; an aspiration in the articulation of letters; the five vital airs, or modes of inspiration and expiration collectively.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปราณ : (คำนาม) ลมหายใจ; สัตว์มีชีวิต, ชีวิต, ใจ. (ส. ปฺราณ; ป. ปาณ).”

(๒) ปาณ + อี ปัจจัย

: ปาณ + อี = ปาณี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีลมปราณ” หมายถึง มีชีวิต, สัตว์มีชีวิต (having life, a living being)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาณี ๒ : (คำนาม) สัตว์, คน. (คำวิเศษณ์) มีลมหายใจอยู่, ยังเป็นอยู่. (ป.; ส. ปฺราณินฺ).”

บาลี “ปาณี” สันสกฤตเป็น “ปฺราณิ” และ “ปฺราณินฺ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺราณิ, ปฺราณินฺ : (คำนาม) ‘ปราณิ, ปราณิน,’ สัตว์อันกอปรด้วยความรู้สึก; a sentient being, an animal.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปราณี : (คำนาม) ผู้มีชีวิต, สัตว์, คน. (ส. ปฺราณิ, ปฺราณินฺ; ป. ปาณี).”

ขยายความ :

บาลี “ปาณ” สันสกฤต “ปฺราณ” หมายถึง ลมหายใจ

บาลี “ปาณี” สันสกฤต “ปฺราณิ” และ “ปฺราณินฺ” หมายถึง ผู้มีลมหายใจ คือ ผู้มีชีวิต ได้แก่คนและสัตว์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ปาณ” แบบบาลี และ “ปราณ” แบบสันสกฤต เก็บไว้ทั้ง “ปาณี” แบบบาลี และ “ปราณี” แบบสันสกฤต

ที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ คือ “ปราณี” –ณี ณ เณร หมายถึง ผู้มีชีวิต, สัตว์, คน ไม่ได้หมายถึง เอ็นดูด้วยความสงสาร

คำที่หมายถึง “เอ็นดูด้วยความสงสาร” สะกดเป็น “ปรานี” –นี น หนู

จริงอยู่ ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ แต่ในภาษาไทย เราสมมุติกันเรียบร้อยแล้วว่า “ปราณี” หมายถึง ผู้มีชีวิต “ปรานี” หมายถึง เอ็นดูด้วยความสงสาร เวลาเขียน จะหมายถึงอะไรก็ต้องสะกดให้ถูกตามสมมุตินี้

สะกดตามใจฉัน หมายถึงอะไรก็ตามใจฉัน แล้วอ้างว่า-ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ดังนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผลของผู้มีการศึกษาดีแล้ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดถูก เป็นความงามของภาษาไทย

: สะกดตามใจ เป็นความบรรลัยของภาษา

#บาลีวันละคำ (4,198)

10-12-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *