บาลีวันละคำ

ประหาณกิเลส (บาลีวันละคำ 4,199)

ประหาณกิเลส

ไม่ใช่ ประหารกิเลส

อ่านว่า ปฺระ-หาน-กิ-เหฺลด 

ประกอบด้วยคำว่า ประหาณ + กิเลส

(๑) “ประหาณ” 

บาลีเป็น “ปหาน” อ่านว่า ปะ-หา-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + หา (ธาตุ = สละ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: + หา = ปหา + ยุ > อน = ปหาน แปลตามศัพท์ว่า “สละทั่ว” คือทิ้งไป, ละไป หมายถึง การเลิก, การทิ้ง, การละ, การสละ (giving up, leaving, abandoning, rejection)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปหาน” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

ปหาน : (คำกริยา) ละทิ้ง. (ป.; ส. ปฺรหาณ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำนี้สันสกฤตเป็น “ปฺรหาณ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “ปฺรหาณ” ไว้

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ประหาณ” ซึ่งเป็นคำที่เขียนอิง “ปฺรหาณ” ในสันสกฤตไว้ บอกไว้ดังนี้ –

ประหาณ : (คำนาม) การละ, การทิ้ง, เช่น สมุจเฉทประหาณ. (ส. ปฺรหาณ; ป. ปหาน).”

(๒) “กิเลส” 

บาลีอ่านว่า กิ-เล-สะ รากศัพท์มาจาก กิลิสฺ (ธาตุ = เดือดร้อน, เศร้าหมอง, เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ –ลิ-เป็น เอ (กิลิสฺ > กิเลส

: กิลิสฺ + = กิลิส > กิเลส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์เดือดร้อน” (2) “ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง” (3) “ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน” 

สูตรหาความหมายของศัพท์ ท่านว่า : 

กิลิสฺสนฺติ  เอเตน  สตฺตาติ  กิเลโส 

สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน, ย่อมเศร้าหมอง, ย่อมเบียดเบียนกัน เพราะภาวะนั้น ดังนั้น ภาวะนั้นจึงชื่อว่า “กิเลส” = ภาวะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์เดือดร้อน, ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง, ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน

กิเลส” หมายถึง เครื่องเศร้าหมอง, ความเศร้าหมอง, มลทินใจ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิเลส” ว่า stain, soil, impurity, affliction, depravity, lust (เปรอะเปื้อน, เศร้าหมอง, ไม่บริสุทธิ์, ความทุกข์, ความเสื่อมเสีย, ราคะ)

ฝรั่งผู้ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า ความหมายของ “กิเลส” ในภาษาบาลีเทียบได้กับที่ภาษาอังกฤษพูดว่า lower or unregenerate nature, sinful desires, vices, passions (ธรรมชาติฝ่ายต่ำ, ความปรารถนาอันเป็นบาป, ความชั่ว, ความทุกข์ทรมาน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กิเลส, กิเลส– : (คำนาม) เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง เช่น ยังตัดกิเลสไม่ได้ กิเลสหนา; กิริยามารยาท ในคำว่า กิเลสหยาบ.”

ประหาณ + กิเลส = ประหาณกิเลส เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “การละกิเลส” หมายถึง การทำให้กิเลสหมดสิ้นไปจากจิตใจ 

อภิปรายขยายความ :

เมื่อพูดว่า ปฺระ-หาน-กิ-เหฺลด เสียง ปฺระ-หาน มักทำให้เรานึกถึงคำว่า “ประหาร” ที่คุ้นหูคุ้นตา ไม่มีใครนึกถึงคำว่า “ปหาน” หรือ “ประหาณ” เพราะไม่คุ้นและไม่รู้ความหมาย

ประหาร” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปฺรหาร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

ปฺรหาร : (คำนาม) ‘ประหาร,’ การตี, การทำบาดเจ็บ, การฆ่า; การประหาร; striking, wounding, killing; a blow.”

ประหาร” บาลีเป็น “ปหาร” (ปะ-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การตี

ปหาร” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การประทุษร้าย, การทุบ, การตี (a blow, stroke, hit)

(2) บาดแผล (a wound)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประหาร : (คำนาม) การตี, การฟัน, การล้าง, การผลาญ. (คำกริยา) ฆ่า, ทําลาย. (ส. ปฺรหาร; ป. ปหาร).”

ในภาษาไทย เรามักเข้าใจว่า “ประหาร” คือ “ฆ่า” คือทำให้ตาย ดังคำว่า “ประหารชีวิต” (ลงโทษฆ่า)

แต่ในภาษาบาลี “ปหาร” มีความหมายย่อยแตกต่างกันออกไป เช่น –

ประหารด้วยฝ่ามือ = ตบ

ประหารด้วยกำมือ = ต่อย, ชก

ประหารด้วยด้วยเท้า = เตะ, ถีบ

ประหารด้วยศอก = ถอง

ประหารด้วยไม้ = ตี, ฟาด, หวด

ประหารด้วยดาบ = ฟัน

ประหารด้วยหอก = แทง

จะเห็นได้ว่า “ประหาร” ในภาษาบาลีหมายถึง “ทำร้าย” ไม่ใช่ “ทำให้ตาย” และ “ทำร้าย” แบบ “ประหาร” นั้น หมายถึงทำร้ายสิ่งที่เป็นวัตถุด้วยวัตถุ 

เพราะเข้าใจดังว่านี้ พอได้ยินคำพูดว่า ปฺระ-หาน-กิ-เหฺลด จิตก็คิดออกมาเป็นตัวอักษรว่า “ประหารกิเลส” เพราะคุ้นกับคำว่า “ประหาร” และยังคุ้นกับความหมายในภาษาไทยที่ว่า “ประหาร” คือ ฆ่า 

“ประหารกิเลส” แปลได้ว่า “ฆ่ากิเลส” 

“ฆ่ากิเลส” ก็คือทำให้กิเลสตายไปจากจิตใจ ความหมายสอดคล้อง กลมกลืน แนบเนียนดีมาก จนกระทั่งเราคิดว่า คำนี้สะกดอย่างนี้ (ประหาร-) ถูกต้องแล้วด้วยประการทั้งปวง

แต่เราไม่ได้เฉลียวใจคิดว่า “กิเลส” เป็นนามธรรม ใช้วัตถุทำร้ายตัวนามธรรมย่อมไม่ได้

ในคัมภีร์บาลี มีคำว่า “กิเลสปฺปหาน” แปลตรงตัวว่า “การละกิเลส” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า the giving up of worldly lust (การละกิเลสทางโลก)

กิเลสปฺปหาน” เอามาพูดเป็นคำไทยก็ตรงกับ “ประหาณกิเลส” นั่นเอง

ถ้าสะกดเป็น “ประหารกิเลส” (-หาร ร เรือ สะกด) ก็ต้องแปลงรูปเป็นคำบาลีเป็น “กิเลสปฺปหาร” 

ตรวจดูในคัมภีร์บาลี ยังไม่พบคำที่สะกดเป็น “กิเลสปฺปหาร

พบแต่ “กิเลสปฺปหาน” (-หาน น หนู สะกด) ซึ่งแปลงเป็นคำไทยว่า “ประหาณกิเลส” 

เสียงที่พูดว่า ปฺระ-หาน-กิ-เหฺลด สะกดเป็นอักษรว่า “ประหาณกิเลส” จึงถูกต้องที่สุด แปลว่า ละกิเลส คือทำให้กิเลสหมดสิ้นไปจากจิตใจ

ไม่ใช่ “ประหารกิเลส” ซึ่งแปลตามคำบาลีว่า “ตีกิเลส” หรือ “ทำร้ายกิเลส” หรือแปลตามคำไทยว่า “ฆ่ากิเลส” 

อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าผู้ที่สะกดคำนี้เป็น “ประหารกิเลส” ก็คงจะหาทางอธิบายด้วยประการต่าง ๆ ว่า “ประหารกิเลส” แปลว่า “ฆ่ากิเลส” เป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วด้วยเหตุผลอย่างนี้ ๆ อย่างนั้น ๆ อย่างโน้น ๆ โดยเฉพาะก็คืออ้างว่า คนทั่วไปเขาเขียนอย่างนี้และเข้าใจตรงกันอย่างนี้ก็เป็นการดีอยู่แล้ว ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ถ้าเขาสมมุติกันอย่างนี้ เข้าใจตรงกันอย่างนี้ ก็จบ จะต้องเขียนเป็นอย่างอื่นให้ยุ่งยากวุ่นวายไปทำไม

เห็นคำว่า “ประหารกิเลส” ร้อยทั้งร้อยเขาเข้าใจความหมาย

เห็นคำว่า “ประหาณกิเลส” มีคนเข้าใจกี่คน?

แค่นี้ก็จนแล้ว

…………..

คำว่า “กิเลสปฺปหาน” = “ประหาณกิเลส” กลายเป็น “ประหารกิเลส” เป็นตัวอย่างที่บอกให้รู้ว่า ความผิดเพี้ยนของถ้อยคำภาษาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร

สาเหตุก็คือ คนส่วนมากไม่มีอุตสาหะฉันทะ คือไม่มีใจรักที่จะศึกษาเรียนรู้ไปถึงรากเหง้าเค้าเดิมของเรื่องต่าง ๆ คงยึดเอาแต่ความเข้าใจเอาเองเป็นที่ตั้ง

ความผิดเพี้ยนของถ้อยคำภาษาเป็นเพียงเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยังมีความผิดเพี้ยนเรื่องอื่น ๆ อีกเป็นอันมากที่กำลังเกิดขึ้นและที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก ล้วนมีรากเหง้ามาจากการไม่มีใจรักที่จะศึกษาเรียนรู้ไปถึงรากเหง้าเค้าเดิมของเรื่องนั้น ๆ ทั้งสิ้น

การไม่มีใจรักที่จะศึกษาเรียนรู้นี่แล คือมหาภัยที่กำลังครอบงำสังคมไทยอยู่ในเวลานี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าโทษประหารเป็นปลายเหตุ

: โทษที่ไม่ประหาณกิเลสก็เป็นต้นสาย

#บาลีวันละคำ (4,199)

11-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *