บาลีวันละคำ

อนุสติ (บาลีวันละคำ 4,204)

อนุสติ 

หญ้าปากคอกที่เกือบลืมเขียน

อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ 

อนุสติ” เขียนแบบบาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(๑) “อนุ” 

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนือง ๆ

(๒) “สติ” 

อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนือง ๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

อนุสฺสติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อนุสติ” (ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อนุสติ : (คำนาม) ความระลึกถึง; ชื่อธรรมหมวดหนึ่ง เรียกว่า อนุสติ ๑๐ มีพุทธานุสติเป็นต้น. (ป. อนุสฺสติ).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อนุสติ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

อนุสติ : ความระลึกถึง, อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ มี ๑๐ อย่างคือ 

๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า 

๒. ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม 

๓. สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ 

๔. สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา 

๕. จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว 

๖. เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา 

๗. มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา 

๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม 

๙. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก 

๑๐. อุปสมานุสติ ระลึกธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน; 

เขียนอย่างรูปเดิมในภาษาบาลีเป็น อนุสสติ 

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [335] ขยายความไว้ดังนี้ 

…………..

อนุสติ 10 (ความระลึกถึง, อารมณ์อันควรระลึกถึงเนือง ๆ — Anussati: recollection; constant mindfulness)

1. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ — Buddhānussati: recollection of the Buddha; contemplation on the virtues of the Buddha)

2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — Dhammānussati: recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues of the Doctrine)

3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — Saṅghānussati: recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)

4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติ บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย — Sīlānussati: recollection of morality; contemplation on one’s own morals)

5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — Cāgānussati: recollection of liberality; contemplation on one’s own liberality)

6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — Devatānussati: recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)

7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — Maraṇassati: mindfulness of death; contemplation on death)

8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — Kāyagatā-sati: mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)

9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — Ānāpānasati: mindfulness on breathing)

10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — Upasamānussati: recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbàna)

…………..

แถม :

ขอให้สังเกต “อนุสติ” ทั้ง 10 จะเป็น + อนุสติ 7 ข้อ เช่น พุทธ + อนุสติ = พุทธานุสติ เป็นต้น 

แต่มี 3 ข้อที่เป็น + สติ คือ มรณสติ (มรณ + สติ) กายคตาสติ (กายคตา + สติ) และ อานาปานสติ (อานาปาน + สติ)

เฉพาะ “มรณสติ” บาลีสะกดเป็น “มรณสติ” (ไม่ซ้อน สฺ) ก็มี สะกดเป็น “มรณสฺสติ” (ซ้อน สฺ) ก็มี ใช้เป็น “มรณานุสฺสติ” = มรณ + อนุสฺสติ ก็มี (แปลว่า “การระลึกถึงความตายอยู่เนือง ๆ”) ในภาษาไทยใช้เป็น “มรณานุสติ” แต่บาลีส่วนมากนิยมใช้ในรูป “มรณสฺสติ” (ซ้อน สฺ) เขียนแบบไทยเป็น “มรณัสสติ” แต่นิยมใช้ในภาษาไทยใช้เป็น “มรณสติ” 

เคยได้ยินนักขบธรรมะอธิบายว่า “มรณสติ” หมายถึง ระลึกถึงความตายของตัวเอง “มรณานุสติ” หมายถึง ระลึกถึงความตายของผู้อื่น คำอธิบายนี้ผู้ใฝ่ธรรมพึงพิจารณาโดยแยบคายเถิด

ส่วน “กายคตาสติ” กับ “อานาปานสติ” นั้น ใช้แบบนี้รูปเดียว ไม่มีที่เป็น “กายคตานุสติ” (กายคตา + อนุสติ) “อานาปานานุสติ” (อานาปาน + อนุสติ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อนุสติสิบอย่าง ถ้าคิดว่ามากไป

: ระลึกถึงความตายอย่างเดียวก็พอ

#บาลีวันละคำ (4,204)

16-12-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *