ภุมริน (บาลีวันละคำ 4,207)
ภุมริน
บินมาจากไหน
อ่านว่า พุม-มะ-ริน
“ภุมริน” เป็นคำที่แผลงมาจาก “ภมร” ในบาลี
“ภมร” บาลีอ่านว่า พะ-มะ-ระ รากศัพท์มาจาก ภมฺ (ธาตุ = หมุน, วน) + อร (อะ-ระ) ปัจจัย
: ภมฺ + อร = ภมร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้วนเวียนอยู่บนเกสรดอกไม้”
“ภมร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แมลงผึ้ง (a bee)
(2) “เส้นหรือสายที่ทำเสียง”, หนึ่งในพิณ 7 สาย (“the string that sounds,” one of the seven strings of the lute)
บาลี “ภมร” สันสกฤตเป็น “ภฺรมร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภฺรมร : (คำนาม) สิ่งซึ่งหมุนเวียน; แมลงภู่ (หรือผึ้งดำใหญ่): what whirls or goes round; a large black bee.”
ในภาษาไทยใช้เป็น “ภมร” ตามรูปบาลี แต่อ่านว่า พะ-มอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภมร : (คำนาม) แมลงผึ้ง, แมลงภู่, ใช้ว่า ภุมระ ก็มี; เครื่องกลึง. (คำกริยา) หมุน. (ป.; ส. ภฺรมร).”
ขยายความ :
โปรดสังเกตว่า “ภมร” ที่เราคุ้นกันว่า แปลว่า แมลงผึ้ง, แมลงภู่ นั้น ยังมีคำแปลอีก 2 อย่างที่เราไม่คุ้น คือเป็นคำนามแปลว่า เครื่องกลึง เป็นคำกริยา แปลว่า หมุน
รากศัพท์ “ภมร” มาจาก ภมฺ ธาตุ แปลว่า หมุน, วน (ดูข้างต้น) “ภมร” ที่หมายถึง เครื่องกลึง ก็เดาได้ไม่ยาก เพราะเครื่องกลึงเป็นอุปกรณ์เมื่อใช้งานจะเห็นอาการหมุนไปหมุนมา ส่วนที่แปลว่า หมุน ก็เป็นความหมายตรงตัวของธาตุอันเป็นรากศัพท์
“ภมร” ที่แปลว่า เครื่องกลึง และเป็นคำกริยาแปลว่า หมุน นั้น เป็นคำที่ใช้ในภาษาหนังสือ หรือภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูดทั่วไป เราจึงไม่คุ้น
“ภมร” ในภาษาไทย เมื่อใช้ในกาพย์กลอน กวีมักแผลงคำเพื่อให้ได้เสียงสัมผัส คำไทยที่ออกมาจาก “ภมร” เท่าที่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีดังนี้ –
(1) ภมริน [พะมะริน] : (คำนาม) ผึ้งทั่วไป, ใช้ว่า ภุมริน ก็ได้.
(2) ภมรี [พะมะรี] : (คำนาม) ผึ้ง, ผึ้งตัวเมีย, ผึ้งทั่วไป, ใช้ว่า ภุมรี ก็ได้. (ป.).
(3) ภุมระ, ภุมรา, ภุมริน, ภุมรี, ภุมเรศ [พุมมะ-] : (คำนาม) ภมร, แมลงผึ้ง, แมลงภู่.
คำแผลงเหล่านี้ ที่มักใช้ทั้งพูดและเขียนกันทั่วไปมากกว่ารูปคำอื่น คือ “ภุมรา” และ “ภุมริน” อาจเป็นเพราะเสียงรื่นไหลดีกว่าคำอื่น
“ภุมรา” อ่านว่า พุม-มะ-รา
“ภุมริน” อ่านว่า พุม-มะ-ริน
“ภุมริน” นั้น สะกดเกลี้ยง ๆ แบบนี้ อย่าเขียนเพลินไปเป็น “ภุมรินทร์”
แถม :
ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ
วณฺณคนฺธํ อเหฐยํ
ปเลติ รสมาทาย
เอวํ คาเม มุนี จเร ฯ
มุนีพึงจาริกไปในเขตคาม
ไม่ทำลายศรัทธาและโภคะของชาวบ้าน
ดุจภมรดูดรสหวานของบุปผชาติแล้วจากไป
ไม่ให้สีและกลิ่นชอกช้ำ
As a bee takes honey from the flowers,
Leaving it colour and fragrance unharmed,
So should the sage wander in the village.
ที่มา:
คำบาลี: ปุปผวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 14
คำแปลเป็นไทยและคำอังกฤษ: หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผึ้งไม่รู้ธรรม แต่มันทำน้ำผึ้งแท้
: คนรู้ธรรมได้แท้ ๆ แต่ทำน้ำผึ้งเทียม
#บาลีวันละคำ (4,207)
19-12-66
…………………………….
…………………………….