บาลีวันละคำ

ประชานิยม (บาลีวันละคำ 611)

ประชานิยม

(บาลีแบบไทย)

อ่านว่า ปฺระ-ชา-นิ-ยม

ประชา” บาลีเป็น “ปชา” สันสกฤตเป็น “ปฺรชา” ไทยเขียนอิงสันสกฤต

ปชา” หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ (progeny, offspring, generation, beings, men, world (of men), mankind)

ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะท่านว่าผู้คนแม้จะมีจำนวนเป็นพันล้านก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว (ดูเพิ่มเติมที่ “ประชาชน” บาลีวันละคำ (466) 24-8-56)

นิยม” บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” หมายถึง (1) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation) (2) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order) (3) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า “นิยม : ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ถ้าใช้ประกอบท้ายคําสมาสบางคํามีความหมายว่า ลัทธิ เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม”

ประชา + นิยม = ประชานิยม เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเทียบคำฝรั่งว่า populism

คำแปล

– แปลตามศัพท์บาลีได้ว่า “กำหนดโดยประชาชน” หรือ “ประชาชนกำหนด

– ถ้าแปลคำว่า “นิยม” ตามความหมายในภาษาไทย ก็จะหมายถึง เป็นที่ชมชอบ ยอมรับนับถือ ชื่นชมยินดีของประชาชน

ความหมาย

ประชานิยม” (populism) เป็นคำที่ใช้ในทางการเมืองการปกครอง มีความหมายว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย หรือผู้ปกครองกำหนดนโยบายโดยรับฟังความต้องการของประชาชนหรือให้ความสำคัญแก่ประชาชนเป็นหลัก = ผลประโยชน์ที่ปลายทางตกอยู่แก่ประชาชน

แต่ในทางปฏิบัติจริง รัฐบาลหรือผู้ปกครองอาจกำหนดนโยบาย “ประชานิยม” โดยใช้วิธีการบางอย่างทำให้ประชาชนชมชอบเพียงเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไป โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริงและยั่งยืนแต่ประการใด = ผลประโยชน์ที่ปลายทางตกอยู่แก่ผู้ปกครอง

ประชานิยม” เป็นบาลีแบบไทย ไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์

ความคิดที่จะให้ เบาสบายกว่าความคิดที่จะเอา” (พุทธทาสภิกขุ)

ประชานิยมแท้ : เอาเพื่อให้

ประชานิยมไทย : ให้เพื่อเอา

17-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย