บาลีวันละคำ

ผลไม้ (บาลีวันละคำ 4,208)

ผลไม้

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า ผน-ละ-ไม้

ประกอบด้วยคำว่า ผล + ไม้

(๑) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + (อะ) ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร” 

ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

บาลี “ผล” สันสกฤตก็เป็น “ผล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ผล : (คำนาม) ‘ผล,’ ผลทั่วไป; ผล, อวสาน; บุณโยทัย, สมบัทหรือความรุ่งเรือง; ลาภ, กำไร; รางวัล; โล่; ใบพร้า; หัวลูกศร; ผลจันทน์เทศ; ฤดูของสตรี; ทาน, การให้; ผาล; คุณย์; ผลที่ได้จากการหาร; เนื้อที่ในวงก์กลม, เกษตรผลหรือเนื้อนา, ฯลฯ; สมีกรณ์, สามยะ, หรือบัญญัติตราชู; fruit in general; fruit, result or consequence; prosperity; gain, profit; reward; a shield; the blade of a knife; the head of an arrow; a nutmeg; the menstrual discharge; gift, giving; a ploughshare; the quotient of a sum; the area of a circle, the area of the field, &c.; an equation.”

ผล” ในภาษาไทยอ่านว่า ผน เป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(๑) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง. 

(๒) สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว. 

(๓) ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล. 

(๔) ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค. 

(๕) ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล. 

(๖) จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า. 

(๒) “ไม้” 

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “ไม้ ๑” และ “ไม้ ๒” บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(1) ไม้ ๑ : (คำนาม) คำรวมเรียกพืชทั่วไป โดยปรกติมีราก ลำต้น กิ่ง ก้าน และใบ, เรียกเนื้อของต้นไม้ที่ใช้ทำสิ่งของต่าง ๆ มีลักษณะเป็นท่อน แผ่น หรือดุ้น เป็นต้น, คำประกอบหน้าสิ่งของบางอย่างที่มีลักษณะยาวซึ่งทำด้วยไม้หรือเดิมทำด้วยไม้ เช่น ไม้กวาด ไม้พาย ไม้เท้า ไม้จิ้มฟัน, คำนำหน้าบอกประเภทต้นไม้ เช่น ไม้ยาง ไม้ดำ ไม้แดง, ท่ารำและท่าตีกระบี่กระบองท่าหนึ่ง ๆ เรียกว่า ไม้หนึ่ง ๆ, โดยปริยายหมายความว่า ท่าที เช่น เขาจะมาไม้ไหน, ลักษณนามเรียกของเช่นปลาย่างที่เสียบไม้เรียงเป็นตับว่า ปลาไม้หนึ่ง ปลา ๒ ไม้, เรียกผ้าที่ม้วนโดยมีไม้อยู่ข้างในว่า ผ้าไม้หนึ่ง ผ้า ๒ ไม้; เรียกลักษณะของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยที่ย่อตรงมุมของฐาน แท่น เสา หรือเครื่องยอด เป็นมุมเล็ก ๆ มุมละ ๓ มุม รวม ๔ มุมใหญ่ ได้ ๑๒ มุมเล็ก ว่า ย่อไม้สิบสอง หรือ ย่อมุมไม้สิบสอง แม้ย่อมากกว่ามุมละ ๓ ก็ยังเรียกว่า ย่อไม้สิบสอง หรือ ย่อมุมไม้สิบสอง.

(2) ไม้ ๒ : (คำนาม) ชื่อเครื่องหมายกำกับตัวอักษร เพื่อบอกระดับเสียง เช่น  ๋ เรียกว่า ไม้จัตวา, เพื่อบอกชนิดสระ เช่น ไ เรียกว่า ไม้มลาย, เพื่อให้อ่านซ้ำ คือ ๆ เรียกว่า ไม้ยมก, หรือเพื่อไม่ให้ออกเสียงอ่าน คือ  ์ เรียกว่า ไม้ทัณฑฆาต.

ผล + ไม้ = ผลไม้ เป็นคำประสมแบบไทย อ่านว่า ผน-ละ-ไม้ แปลจากหน้าไปหลังว่า “ผลของไม้

ถ้าเอาคำนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เป็นแนว ก็หมายถึง “ลูกไม้” 

ถ้าเอาคำนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เป็นแนว ก็หมายถึง “ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่” 

ขยายความ :

คำว่า “ผลไม้” เป็นคำประสมแบบไทย จะเรียกว่าเป็นคำสมาสก็ผิดหลักภาษา เพราะหลักภาษากำหนดว่า คำที่จะสมาสหรือสนธิกันได้ต้องเป็นคำที่ในภาษาเดียวกัน เช่น บาลีกับบาลี สันสกฤตกับสันสกฤต (บาลีกับสันสกฤตสมาสสนธิกันได้ เนื่องจากเป็นภาษาที่ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน) ในที่นี้ “ผล” เป็นคำบาลีสันสกฤต “ไม้” เป็นคำไทย จึงสมาสสนธิกันไม่ได้ 

แต่น่าสังเกตว่า เวลาอ่าน เราอ่านเหมือนคำสมาส คือออกเสียง – ที่เป็นตัวสะกดว่า -ละ- คืออ่านว่า ผน-ละ-ไม้ ไม่มีใครอ่านหรือเรียกว่า ผน-ไม้

เชื่อหรือไม่ว่า คำว่า “ผลไม้” ที่เรารู้จักมักคุ้นกันดีที่สุดนี้ ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554! 

ผลไม้” สลับคำเป็น “ไม้ผล” เป็นคำที่เราพูดกัน หมายถึง “ไม้ที่ปลูกไว้เอาผล” อยู่ในชุดเดียวกับ “ไม้ดอก” (ไม้ที่ปลูกไว้ดูดอก) “ไม้ใบ” (ไม้ที่ปลูกไว้ดูใบ) 

คำว่า “ไม้ดอก” “ไม้ใบ” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่เชื่อหรือไม่ว่า คำว่า “ไม้ผล” ก็ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ!

คงไม่ใช่เพราะลืมหรือหลงหูหลงตา แต่น่าจะเป็นด้วยเจตนาที่จะไม่เก็บด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้สนใจพึงศึกษาหาความรู้กันต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม้ให้ผลแก่โลก

: คนไม่ทำประโยชน์แก่โลก ควรอายไม้

#บาลีวันละคำ (4,208)

20-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *