บาลีวันละคำ

ขันธปริตร (บาลีวันละคำ 916)

ขันธปริตร

(ลำดับ 4 ในเจ็ดตำนาน)

อ่านว่า ขัน-ทะ-ปะ-หฺริด

ประกอบด้วย ขันธ + ปริตร

ขันธ” บาลีเขียน “ขนฺธ” (ขัน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ถูกทุกข์กัดกิน” (ยังมีความหมายอื่นๆ อีก ส่วนใหญ่เป็นความหมายเชิงปรัชญา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “ขนฺธ” ไว้หลายความหมาย ขอนำมาแสดงไว้ประดับความรู้ดังนี้ –

(1) bulk, massiveness (ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร)

(2) the bulk of the body (of an elephant (ลำตัว คือหลังของช้าง)

(3) the shoulder or back (ไหล่หรือหลัง)

(4) the trunk (ลำต้นของต้นไม้)

(5) section, chapter (หมวด, บท)

(6) material as collected into uniform bulk (เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่)

(7) the body of, a collection of, mass, or parts of (ตัว, การรวมตัว, ส่วนต่างๆ)

ปริตร” บาลีเขียน “ปริตฺต” (ปะ-ริด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ป้องกันภัยเป็นต้นให้แก่สัตว์รอบด้าน” หมายถึง การป้องกัน, การรักษาให้ปลอดภัย; ของขลังสำหรับป้องกันตัว, ของที่ช่วยบรรเทา, เครื่องราง (protection, safeguard; (protective) charm, palliative, amulet)

ขนฺธ + ปริตฺต = ขนฺธปริตฺต > ขันธปริตร แปลให้เข้ากับเรื่องว่า “บทสวดเพื่อป้องกันภัยให้แก่ตัว

โปรดสังเกตว่า ชื่อเจ็ดตำนานบทนี้ ใช้คำว่า “ปริตร” ไม่ได้ใช้คำว่า “สูตร” และไม่มีบอกไว้ว่าเรียกชื่อว่า “ขันธสูตร” ก็ได้

บรรยายความ:

ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดที่นิ้วเท้า ทนกำลังพิษไม่ไหวจึงมรณภาพลง

พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ชะรอยเธอจะไม่ได้แผ่เมตตาไปในสกุลพญางูทั้ง 4 คือ พญางูวิรูปักข์ พญางูเอราบถ พญางูฉัพยาบุตร พญางูกัณหาโคตมะ ถ้าเธอแผ่เมตตาไปในสกุลพญางูทั้ง 4 งูก็จะไม่ขบเธอเลย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไปเธอจงพากันเจริญเมตตาไปในสกุลพญางูทั้ง 4 เถิด

พระปริตรบทนี้นับถือกันมาแต่โบราณว่ามีอานุภาพป้องกันภัยจากอสรพิษรวมทั้งสัตว์ร้ายต่างๆ ได้

ขันธปริตรเป็นเรื่องที่สอนให้แผ่เมตตาไปในอสรพิษ รวมถึงสัตว์ร้ายต่างๆ เป็นการเตือนให้รู้ว่าหากอยู่ร่วมกันด้วยเมตตาจิตก็จะไม่ได้รับอันตรายจากสัตว์ร้าย สอนให้มีจิตประกอบด้วยเมตตา อันแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาแบบพุทธ ที่เริ่มต้นด้วยเมตตาจิตก่อน ไม่ทำร้ายหรือไม่ทำลายแม้แต่สัตว์ที่มีพิษ แต่ให้อยู่ด้วยเมตตา

อย่างไรก็ตาม สำหรับสัตว์ที่มีพิษ นอกจากจะสอนให้มีเมตตาแล้ว ก็สอนมิให้ประมาทและให้รู้จักการป้องกันด้วย

(ประมวลความจาก อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า ๔๗-๔๘

พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)

ขอนำบท ขันธปริตร มาเสนอไว้ในลำดับต่อไปนี้

ขันธปริตร

วิรูปักเขหิ  เม  เมตตัง

เมตตัง  เอราปะเถหิ  เม

ฉัพยาปุตเตหิ  เม  เมตตัง

เมตตัง  กัณหาโคตะมะเกหิ  จะ

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลวิรูปักข์

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลเอราบถ

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลฉัพยาบุตร

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลกัณหาโคตมะ

อะปาทะเกหิ  เม  เมตตัง

เมตตัง  ทิปาทะเกหิ  เม

จะตุปปะเทหิ  เม  เมตตัง

เมตตัง  พะหุปปะเทหิ  เม.

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกสองเท้า

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกสี่เท้า

ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก

มา  มัง  อะปาทะโก  หิงสิ

มา  มัง  หิงสิ  ทิปาทะโก

มา  มัง  จะตุปปะโท  หิงสิ

มา  มัง  หิงสิ  พะหุปปะโท.

สัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา

สัตว์สองเท้าอย่าเบียดเบียนเรา

สัตว์สี่เท้าอย่าเบียดเบียนเรา

สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา

สัพเพ  สัตตา  สัพเพ  ปาณา

สัพเพ  ภูตา  จะ  เกวะลา

สัพเพ  ภัทรานิ  ปัสสันตุ

มา  กิญจิ  ปาปะมาคะมา.

ขอสรรพสัตว์ สรรพชีวิต

สรรพภูต ทุกหมู่เหล่า

จงได้พบเห็นความเจริญทุกสิ่งทุกประการ

อย่าได้ไปพะพานโทษอันชั่วช้าสักน้อยหนึ่งเลย

อัปปะมาโณ  พุทโธ 

อัปปะมาโณ  ธัมโม 

อัปปะมาโณ  สังโฆ 

พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้

พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้

พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้

ปะมาณะวันตานิ  สิริงสะปานิ 

อะหิ  วิจฉิกา  สะตะปะที  อุณณานาภี  สะระภู  มูสิกา 

งู  แมลงป่อง  จะขาบ  แมลงมุม  ตุ๊กแก  หนู

สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้พอประมาณได้

(ไม่มากเหมือนคุณพระรัตนตรัย)

กะตา  เม  รักขา  กะตา  เม  ปะริตตา

ความรักษาอันเรากระทำแล้ว

ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว

ปะฏิกกะมันตุ  ภูตานิ 

ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย

โสหัง  นะโม  ภะคะวะโต  นะโม  สัตตันนัง  สัมมาสัมพุทธานัง.

เรานั้นกำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่

กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์อยู่

ที่มา:

จุลวรรค ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎก เล่ม ๗  ข้อ ๒๗-๒๘

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑  ข้อ ๖๗

ขันธปริตตชาดก พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗  ข้อ ๒๕๕-๒๕๖

———–

: ถ้าประมาทอยู่เนืองนิตย์

: ถึงคาถาจะศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ปลอดภัย

#บาลีวันละคำ (916)

20-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *