บาลีวันละคำ

เทวทัณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,210)

เทวทัณฑ์

คือฟ้าผ่า

อ่านว่า เท-วะ-ทัน

ประกอบด้วยคำว่า เทว + ทัณฑ์

(๑) “เทว” 

อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” (3) “ที่เป็นที่เพลิดเพลินแห่งพวกเทวดา” (4) “สิ่งเป็นเหตุเพลิดเพลินแห่งชาวโลก

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทว– ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).”

(๒) “ทัณฑ์

บาลีเป็น “ทณฺฑ” อ่านว่า ทัน-ดะ ( มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก –

(1) ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ข่ม, ทรมาน) + ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ

: ทมฺ > ทณฺ + = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน” หมายถึง การลงทัณฑ์, การทรมาน, การลงอาญา, การถูกปรับ

(2) ทฑิ (ธาตุ = ตี, ประหาร) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ, ลบ และสระที่สุดธาตุ

: ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + = ทณฺฑก > ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี” หมายถึง ท่อนไม้, ไม้เท้า, ไม้เรียว

ทณฺฑ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลัก 2 อย่าง คือ ไม้ที่หยิบถือได้ (a stick, staff, rod) และ การลงโทษ (punishment)

ในที่นี้ “ทณฺฑ” หมายถึงการลงโทษ 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัณฑ-, ทัณฑ์ : (คำนาม) โทษที่เนื่องด้วยความผิด; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) โทษทางวินัยที่ใช้แก่ทหารที่กระทำความผิดมี ๕ สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง. (ป., ส.).”

เทว + ทณฺฑ = เทวทณฺฑ (เท-วะ-ทัน-ดะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทัณฑ์ของเทพ” หรือ “ทัณฑ์ของเทวดา” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “อาชญาของเทวดา

เทวทณฺฑ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “เทวทัณฑ์

ขยายความ :

เทวทัณฑ์” หมายถึงอะไร?

คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

อสนิยา  ปาโต  ปตนํ  อสนีปาโต  เทวทณฺโฑติ  อตฺโถ ฯ

การตกลงแห่งสายฟ้า คืออสนีปาโต ชื่อว่า เทวทัณฑ์

ที่มา: วิสุทธชนวิลาสินี (อรรถกถาอปทาน) ภาค 2 หน้า 170 (ฐิตัญชลิยเถราปทาน)

…………..

สมนฺตโต  อสนิโยติ  สพฺพทิสาภาคโต  อสเน  วินาสเน  นิยุตฺโตติ  อสนิโย  เทวทณฺฑา  ภยาวหา  ผลึสูติ  สมฺพนฺโธ  ฯ  

คำว่า สมนฺตโต  อสนิโย ประมวลความว่า สายฟ้าชื่อว่าอสนี เพราะตกลงมาทำให้พินาศรอบทิศทาง เทวทัณฑ์คืออสนีดังว่านี้อันนำมาซึ่งความหวาดกลัวได้ผ่าแล้ว

ที่มา: วิสุทธชนวิลาสินี (อรรถกถาอปทาน) ภาค 2 หน้า 384-385 (ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน)

…………..

ตามคำอธิบายของอรรถกถา ยุติได้ว่า “เทวทัณฑ์” หมายถึง สายฟ้า คือฟ้าผ่า

ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ฟ้าผ่า : (คำนาม) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากอิเล็กตรอนจำนวนมากเคลื่อนที่ระหว่างเมฆกับพื้นโลก เกิดพลังงานสูงมากจนสามารถทำลายสิ่งที่กีดขวาง เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ บ้านเรือน.”

สายฟ้าหรือฟ้าผ่ามาจากเมฆ ดังนั้น คำว่า “เทว” ในที่นี้จึงไม่ใช่เทวดาทั่วไปดังที่เรามักเข้าใจกัน แต่หมายถึง ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน (the sky, rain-cloud, rainy sky) (ความหมายของ “เทว” ข้างต้น)

…………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่าอย่างไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

เทวทัณฑ์ : (คำนาม) อาชญาเทวดา, เทวดาลงโทษ, บางทีประสงค์เอาฟ้าผ่า.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ – 

เทวทัณฑ์ : (คำนาม) การลงโทษของเทวดา, เทวดาลงโทษ, เช่น คนถูกฟ้าผ่าตายถือว่าเป็นเทวทัณฑ์.”

…………..

คำนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่ว่า “บางทีประสงค์เอาฟ้าผ่า” นับว่าสอดคล้องกับคำอธิบายของอรรถกถา

เมื่อ “เทว” หมายถึง เมฆฝน (rain-cloud) เราก็บอกคนรุ่นใหม่ได้ว่า “เทวทัณฑ์” หมายถึงฟ้าผ่า ก็คือธรรมชาติคือเมฆฝนลงโทษ ส่วนคนรุ่นเก่าหรือใครจะบอกว่า “เทวดาลงโทษ” ก็ไม่ได้ขัดข้องแต่ประการใด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำบาปอาจไม่โดนฟ้าผ่า

: แต่นรกรอท่าแน่นอน

#บาลีวันละคำ (4,210)

22-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *