บาลีวันละคำ

ปฏิญญา – ปฏิญาณ (บาลีวันละคำ 4,212)

ปฏิญญาปฏิญาณ

คนละคำเดียวกัน

ปฏิญญา” อ่านว่า ปะ-ติน-ยา

ปฏิญาณ” อ่านว่า ปะ-ติ-ยาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ปฏิญญา : (คำนาม) การให้คำมั่นสัญญาหรือการแสดงยืนยันโดยถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง. (ป.; ส. ปฺรติชฺญา).

(2) ปฏิญาณ : (คำกริยา) ให้คำมั่นสัญญา โดยมากมักเป็นไปตามแบบพิธี เช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของข้าราชการเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา. (ส. ปฺรติชฺญาน).

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรติชฺญา” และ “ปฺรติชฺญาน” (ตามที่พจนานุกรมฯ อ้าง) บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ปฺรติชฺญา : (คำนาม) ‘ประติชญา, ประติญญา,’ สัญญา, คำมั่นสัญญา, ความตกลง, ความยินยอม; การหรือความรับ; อุปไมย, พจน์ที่จักต้องพิสูจน์; promise, agreement, engagement, assent; admission, acknowledgment; a proposition, an assertion to be proved.

(2) ปฺรติชฺญาน : (คำนาม) ‘ประติชญาน, ประติญาน,’ สัญญา, คำมั่นสัญญา, ความยินยอม; promise, agreement, assent.

ในบาลี มีศัพท์ว่า “ปฏิญฺญา” เทียบได้กับ “ปฺรติชฺญา” ในสันสกฤต รูปคำตรงกับ “ปฏิญญา” ในภาษาไทย 

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “ปฏิญญา” พจนานุกรมฯ อ้างทั้งบาลีและสันสกฤต แต่ที่คำว่า “ปฏิญาณ”พจนานุกรมฯ อ้างเฉพาะสันสกฤต ไม่ได้อ้างบาลี

ในบาลีไม่พบ “ปฏิญาณ” หรือ “ปฏิญฺญาณ” อันเทียบได้กับ “ปฺรติชฺญาน” ในสันสกฤต และรูปคำตรงกับ “ปฏิญาณ” ในภาษาไทย 

พูดชัด ๆ บาลีไม่มี “ปฏิญาณ” หรือ “ปฏิญฺญาณ” มีแต่ “ปฏิญฺญา” 

ปฏิญฺญา” ในบาลีรากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปฏิ + ญฺ + ญา)

: ปฏิ + ญฺ + ญา = ปฏิญฺญา + กฺวิ = ปฏิญฺญากฺวิ > ปฏิญฺญา แปลตามศัพท์ว่า “การรับรอง” หมายถึง ปฏิญญา, คำรับรอง, การยืนยัน

บางสูตรบอกว่า รากศัพท์มาจาก ปติ (-ติ ต เต่า) คำอุปสรรค แปลง เป็น

: ปติ + ญฺ + ญา = ปติญฺญา + กฺวิ = ปติญฺญากฺวิ > ปติญฺญา > ปฏิญฺญา 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิญฺญา” ว่า acknowledgment, agreement, promise, vow, consent, permission (การรับรู้, การเห็นด้วย, การสัญญา, การปฏิญาณ, การยินยอม, การอนุญาต) 

อย่างไรก็ตาม “ปฏิญาณ” หรือ “ปฏิญฺญาณ” ถ้าจะอธิบายรากศัพท์ก็อธิบายได้เช่นเดียวกับ “ปฏิญฺญา” เพราะรากศัพท์เดียวกัน ต่างกันเฉพาะ “ปฏิญาณ” หรือ “ปฏิญฺญาณ” ลง ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: ปฏิ + ญฺ + ญา = ปฏิญฺญา + ยุ > อน = ปฏิญฺญาน > ปฏิญฺญาณ 

กล่าวได้ว่า “ปฏิญาณ” หรือ “ปฏิญฺญาณ” และ “ปฏิญฺญา” เป็นคำเดียวกัน แต่บาลีใช้เฉพาะ “ปฏิญฺญา

ความหมายที่เด่นของ “ปฏิญฺญา” คือ:

– ในกรณีที่มีการขอร้องแล้วรับว่าจะทำตามที่ขอ ตรงกับคำว่า “รับปาก” เรียกว่า “ให้ปฏิญญา” เมื่อทำตามที่รับปาก เรียกว่า “เปลื้องปฏิญญา”

– ในการแสดงตนว่าเป็นอะไรหรือเป็นใคร เมื่อมีการสงสัยหรือให้ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น เช่น “ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ” = ยืนยันว่าตนเป็นนักบวช คล้ายๆ กับคำว่า “รับสมอ้าง”

ส่วน “ปฏิญาณ” ในภาษาไทย ความหมายที่เด่น คือการให้คำมั่นสัญญา ความหมายคล้ายกับตั้งสัจจะ หรือให้สัจจะ

อาจสรุปได้ว่า –

ปฏิญญา” ให้คำมั่นสัญญาเมื่อมีการร้องขอ

ปฏิญาณ” ให้คํามั่นสัญญาด้วยความตั้งใจของตัวเอง ไม่คำนึงว่ามีใครร้องขอหรือไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าสละชีวิตรับปากใครง่าย ๆ

: แต่เมื่อรับปากแล้วจงรักษาไว้ด้วยชีวิต

#บาลีวันละคำ (4,212)

24-12-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *