บาลีวันละคำ

วัดบรมสถล (บาลีวันละคำ 4,213)

วัดบรมสถล

วัดอะไร

อ่านตามหลักภาษาว่า วัด-บอ-รม-มะ-สะ-ถน

อ่านตามสะดวกปากว่า วัด-บอ-รม-สะ-ถน

ประกอบด้วยคำว่า วัด + บรม + สถล

(๑) “วัด

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วัด ๑ : (คำนาม) สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือนักบวชเป็นต้น.”

(๒) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๓) “สถล” 

บาลีเป็น “ถล” อ่านว่า ถะ-ละ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + อล ปัจจัย, แปลง เป็น , “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ) 

: ฐา + อล = ฐาล > ถาล > ถล แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ยืนของสัตวโลก” 

(2) ถลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + (อะ) ปัจจัย 

: ถลฺ + = ถล แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งอยู่ของสัตวโลก” 

ถล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง 

(1) ที่ที่น้ำไม่ท่วม, ที่สูงหรือยกขึ้นสูง, ที่ดอน [ตรงข้ามกับ ต่ำ] (dry ground, high, raised [opp. low])

(2) ที่แข็ง, บก (solid, firm) 

(3) ที่ราบสูง (ตรงกันข้ามกับที่ลุ่ม) (plateau [opp. low lying place]) 

(4) ที่แห้ง, พื้นดินที่แน่น (dry land, terra firma) 

(5) พื้นที่แน่นและเรียบหรือปลอดภัย (firm, even ground or safe place) 

บาลี “ถล” สันสกฤตเป็น “สฺถล” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

สฺถล : (คำนาม) สถาน, ที่, ดิน; กระโจม, วัสตรเวศมันหรือเรือนผ้า; เนิน; บทหรือหัวข้อ; ภาค (หนังสือ); place, site, soil; a tent, a house of cloth; a mound or hillock; point or case; part (of a book).”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถล, สถล– : (คำนาม) ที่บก, ที่ดอน, ที่สูง. (ส.; ป. ถล).”

วัด + บรม + สถล = วัดบรมสถล แปลตามศัพท์ว่า “วัดที่ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่บนที่ดอน” หรือ “วัดซึ่งตั้งอยู่บนที่ดอนอันยิ่งใหญ่” 

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “วัดบรมสถล” (อ่านเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 20:30 น.) อธิบายเรื่องวัดบรมสถลไว้ดังนี้ –

…………..

วัดบรมสถล หรือ วัดดอน มีชื่อเต็มว่า วัดบรมสถลศรีวิสุทธิโสภณรังสรรค์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 28 วา โดยมีคูเป็นเขตวัดล้อมรอบทุกด้าน กล่าวคือ คูด้านเหนือและด้านตะวันออกเป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับป่าช้าจีน ส่วนคูด้านใต้และด้านตะวันตกเป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับชาวบ้าน วัดดอนมีวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงคือ พระกริ่งฟ้าผ่า

ประวัติ

วัดดอนสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏหลักฐานเดิมว่า มังจันจ่าพระยาทวายได้มาขอสวามิภักดิ์ขึ้นกับไทย จึงมีชาวทวายตามเข้ามาอยู่ด้วยและได้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ.2340 วัดตั้งอยู่บนดอนจึงได้ชื่อว่า “วัดดอน” และ “วัดดอนทวาย” บ้างเรียก “วัดดอนหลังบ้านทวาย” จนในปี พ.ศ.2400 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แปลงนามวัดให้ใหม่เป็น “วัดบรมสถล”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แผ่นดินไทยมีวัดเป็นต้นทุนที่เลิศล้ำ

: ถ้าไม่ทำวัดให้เป็นสถานศึกษาปฏิบัติธรรม ก็ขาดทุน

#บาลีวันละคำ (4,213)

25-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *