บาลีวันละคำ

ภยทสฺสาวี (บาลีวันละคำ 4,214)

ภยทสฺสาวี

แปลว่าพระดีกลัวอาบัติ

อ่านว่า พะ-ยะ-ทัด-สา-วี

ประกอบด้วยคำว่า ภย + ทสฺสาวี

(๑) “ภย” 

อ่านว่า พะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อี (ที่ ภี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ภี + = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)

บาลี “ภย” สันสกฤตก็เป็น “ภย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

ภย : (คำวิเศษณ์) อันน่ากลัว; frightful; dreadful. – (คำนาม) ‘ภย. ภัย,’ ความกลัว; อันตราย; fear; danger or peril.”

ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”

ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous) 

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous 

(๒) “ทสฺสาวี

อ่านว่า ทัด-สา-วี รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + อาวี ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทิสฺส แล้วลบ อิ ที่ ทิ-(สฺ)(ทิสฺ > ทิสฺส > ทสฺส

: ทิสฺ > ทิสฺส > ทสฺส + อาวี = ทสฺสาวี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติเห็น-” หรือ “ผู้เห็น-อยู่โดยปกติ

ภย + ทสฺสาวี = ภยทสฺสาวี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติเห็นภัย” หรือ “ผู้เห็นภัยอยู่โดยปกติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภยทสฺสาวี” ว่า seeing or realising an object of fear, i. e. danger (เห็นหรือรู้ถึงภัยคืออันตราย)

วลีเต็มของ “ภยทสฺสาวี” คือ “อณุมตฺเตสุ  วชฺเชสุ  ภยทสฺสาวี” แปลว่า “ผู้มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย” หมายความว่า โทษผิดเพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นภัยน่ากลัว ไม่กล้าล่วงละเมิด

ขยายความ :

จะเข้าใจความหมายของ “ภยทัสสาวี” ได้ชัดขึ้น ควรศึกษาจากข้อความเต็ม ๆ ที่แสดงถึงลักษณะของสมณะที่พึงประสงค์ในพระศาสนา ดังนี้ –

…………..

โส  เอวํ  ปพฺพชิโต  สมาโน  ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต  วิหรติ  อาจารโคจรสมฺปนฺโน  อณุมตฺเตสุ  วชฺเชสุ  ภยทสฺสาวี  สมาทาย  สิกฺขติ  สิกฺขาปเทสุ  กายกมฺมวจีกมฺเมน  สมนฺนาคโต  กุสเลน  ปริสุทฺธาชีโว  สีลสมฺปนฺโน  อินฺทฺริเยสุ  คุตฺตทฺวาโร  สติสมฺปชญฺเญน  สมนฺนาคโต  สนฺตุฏฺโฐ  ฯ  

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒

…………..

แปล:

โส  เอวํ  ปพฺพชิโต  สมาโน  ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต  วิหรติ  

เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์

อาจารโคจรสมฺปนฺโน 

ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร (คือความประพฤติปฏิบัติอันสมควรแก่ภูมิเพศบรรพชิต)

อณุมตฺเตสุ  วชฺเชสุ  ภยทสฺสาวี 

โทษผิดเพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นภัยน่ากลัว (ไม่กล้าล่วงละเมิด)

สมาทาย  สิกฺขติ  สิกฺขาปเทสุ 

สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

กายกมฺมวจีกมฺเมน  สมนฺนาคโต  กุสเลน 

ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล

ปริสุทฺธาชีโว 

เลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์

สีลสมฺปนฺโน 

ถึงพร้อมด้วยศีล

อินฺทฺริเยสุ  คุตฺตทฺวาโร 

คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

(ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ฯลฯ มีสติรู้เท่านั้น ไม่หลงชอบหลงชังตามไป)

สติสมฺปชญฺเญน  สมนฺนาคโต 

ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ 

สนฺตุฏฺโฐ  ฯ 

เป็นผู้สันโดษ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กฎหมายกับพระธรรมวินัย

: พระกลัวอะไรมากกว่ากัน?

#บาลีวันละคำ (4,214)

26-12-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *