บาลีวันละคำ

ปฏิรูปเทส (บาลีวันละคำ 608)

ปฏิรูปเทส

อ่านแบบบาลีว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ

อ่านแบบไทยว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เทด

ประกอบด้วย ปฏิรูป + เทส

ปฏิรูป” < ปฏิ + รูป แปลตามศัพท์ว่า “รูปเฉพาะ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ

1. พอเหมาะ, สมควร, เหมาะสม, เหมาะเจาะ, เป็นไปได้ (fit, proper, suitable, befitting, seeming)

2. เทียม, ปลอม, ไม่แท้, คล้าย, เหมือน (like, resembling, disguised as, in the appearance of, having the form) เช่น “มิตรปฏิรูป” คือคนที่เหมือนกับจะเป็นเพื่อน แต่ไม่ใช่เพื่อน หรือศัตรูที่แฝงมาในคราบของเพื่อน

เทส” แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” ในภาษาบาลีหมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country)

ภาษาไทยใช้ว่า “เทศ” หมายถึง ถิ่นที่, ท้องถิ่น, สถานที่

ปฏิรูป + เทส = ปฏิรูปเทส แปลว่า “ถิ่นที่เหมาะสม” (suitable region) หมายถึง ถิ่นเจริญ มีคนดี มีนักปราชญ์ มีโอกาสทำความดีได้สะดวก

คำนี้มีแง่คิด –

1. “ปฏิรูปเทส” นักบาลีในไทยมักออกเสียงแยกเป็น ปฏิรู + ปเทส คือให้น้ำหนักเป็น “ปเทส” = “ประเทศ” ตามความหมายในภาษาไทย (ประเทศ = บ้านเมือง, แว่นแคว้น)

ความจริง “เทส” ในภาษาบาลีหมายถึง region หรือ country ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อแยกเช่นนั้นแล้วก็ทำให้คำว่า “ปฏิรูป” เหลือเพียง “ปฏิรู-” (ไม่มีศัพท์เช่นนี้) เนื่องจาก ไปรวมกับ “เทส” เป็น “ปเทส” ไปแล้ว

2. เมื่อจะให้คงเป็น “ปฏิรูป” ด้วย และเป็น “ปเทส” ด้วย ก็ต้องเขียนแก้กลับเป็น ปฏิรูป + ปเทส = ปฏิรูปปเทส (ปะ-ติ-รู-ปะ-ปะ-เท-สะ, ปลา 2 ตัว, คำเดิม ปลา ตัวเดียว, บาลีไม่มีคำที่สะกดแบบนี้) เขียนเป็นคำไทยว่า “ปฏิรูปประเทศ” (อ่านแบบลากเข้าความว่า ปะ-ติ-รูบ-ปฺระ-เทด)

3. คำว่า “ปฏิรูป” ในภาษาไทย มักเข้าใจกันในความหมายว่า “ปรับปรุงให้สมควร” ซึ่งใช้เทียบกับภาษาอังกฤษว่า reform (re = ปฏิ form = รูป, reform = ปฏิรูป) ดังนั้น “ปฏิรูปประเทศ” ในภาษาไทยจึงมีความหมายว่า “ปรับปรุงประเทศให้สมควร” คือให้เป็นบ้านเมืองที่เหมาะสม มีคนดี ไม่ทุจริตโกงกิน มีนักปราชญ์ มีโอกาสทำความดีได้สะดวก

: ทำบ้านเมืองให้เป็น “ปฏิรูป-เทส” นั่นแหละคือ “ปฏิรูป-ประเทศ

14-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย