อุปกิเลสที่จรมา (บาลีวันละคำ 4,223)
อุปกิเลสที่จรมา
คืออะไร?
“อุปกิเลสที่จรมา” ประกอบด้วยคำว่า “อุปกิเลส” และ “ที่จรมา”
(๑) “อุปกิเลส”
เขียนแบบบาลีเป็น “อุปกฺกิเลส” (ซ้อน กฺ) อ่านว่า อุ-ปัก-กิ-เล-สะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + กิลิสฺ (ธาตุ = เดือดร้อน, เศร้าหมอง, เบียดเบียน) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว้างอุสรรคกับธาตุ (อุป + กฺ + กิลิสฺ), แปลง อิ ที่ –ลิ-เป็น เอ (กิลิสฺ > กิเลส)
: อุป + กฺ + กิลิสฺ = อุปกฺกิลิสฺ + อ = อุปกฺกิลิส > อุปกฺกิเลส แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เข้ามาทำให้จิตเศร้าหมอง”
“อุปกฺกิเลส” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อุปกิเลส” อ่านว่า อุ-ปะ-กิ-เหฺลด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปกิเลส : (คำนาม) เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง มี ๑๖ อย่าง มี อภิชฌาวิสมโลภ เป็นต้น. (ป. อุปกฺกิเลส).”
(๒) “ที่จรมา”
เป็นคำไทยที่แปลมาจากคำบาลีว่า “อาคนฺตุก” อ่านว่า อา-คัน-ตุ-กะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ตุ ปัจจัย + ก สกรรถ, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ
: อา + คมฺ = อาคมฺ + ตุ = อาคมตุ > อาคนฺตุ + ก = อาคนฺตุก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มาเยือน”
หมายเหตุ : อา คำอุปสรรคในที่นี้ ใช้ในความหมาย “กลับความ” คือ คมฺ ธาตุ = ไป > อาคมฺ กลับความจาก “ไป” เป็น “มา”
“อาคนฺตุก” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้มา, ผู้มาถึง, ผู้มาใหม่, แขก, คนแปลกหน้า, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภิกษุที่เพิ่งมาใหม่ ๆ; ผู้เยี่ยมเยียน (coming, arriving, new comer, guest, stranger, esp. a newly arrived bhikkhu; a visitor)
(2) มาจากข้างนอก, เกี่ยวเนื่องกับเหตุที่เกิดขึ้น (adventitious, incidental)
(3) เพิ่มเติม, เพิ่มขึ้น, เสริม (accessory, superimposed, added)
“อาคนฺตุก” ในภาษาไทยใช้เป็น “อาคันตุก-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อาคันตุกะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาคันตุก-, อาคันตุกะ : (คำนาม) แขกผู้มาหา. (ป., ส.).”
ขยายความ :
“อุปกิเลสที่จรมา” แปลงเป็นคำบาลีว่า “อาคนฺตุก อุปกฺกิเลส” เขียนอย่างนี้คือเป็นคนละคำ และยังไม่ได้ประกอบวิภัตติปัจจัย
คำว่า “อาคนฺตุก อุปกฺกิเลส” ในพระไตรปิฎกที่นิยมนำไปเอ่ยอ้างกันอยู่เสมอในหมู่นักขบธรรมะ น่าจะได้แก่คำที่แจกวิภัตติแล้วเป็น “อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ” (อา-คัน-ตุ-เก-หิ อุ-ปัก-กิ-เล-เส-หิ) ในพระพุทธพจน์ดังต่อไปนี้ –
…………..
ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ, ตํ อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ยถาภูตํ นปฺปชานาติ, ตสฺมา อสฺสุตวโต ปุถุชฺชนสฺส จิตฺตภาวนา นตฺถีติ วทามีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร แต่ว่าจิตนั้นแลเศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่มีการอบรมจิต.
ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ, ตํ สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตํ ปชานาติ, ตสฺมา สุตวโต อริยสาวกสฺส จิตฺตภาวนา อตฺถีติ วทามีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร และจิตนั้นแลพ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมมีการอบรมจิต.
ที่มา: เอกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 52-53
…………..
แถม :
“อุปกิเลสที่จรมา” หรือ “อุปกิเลส” มีอะไรบ้าง?
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [347] แสดงรายละเอียดของ “อุปกิเลส” ไว้ดังนี้ –
…………..
อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส 16 (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี — Upakkilesa: mental defilements)
1. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอา ไม่เลือกควรไม่ควร — Abhijjhā-visamalobha: greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)
2. พยาบาท (คิดร้ายเขา — Byāpāda: malevolence; illwill)
3. โกธะ (ความโกรธ — Kodha: anger)
4. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ — Upanāha: grudge; spite)
5. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น — Makkha: detraction; depreciation; denigration)
6. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน — Palāsa: domineering; rivalry; envious rivalry)
7. อิสสา (ความริษยา — Issā: envy; jealousy)
8. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — Macchariya: stinginess; meanness)
9. มายา (มารยา — Māyā: deceit)
10. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด — Sāṭheyya: hypocrisy)
11. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง — Thambha: obstinacy; rigidity)
12. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน — Sārambha: presumption; competing contention; contentiousness; contentious rivalry; vying; strife)
13. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน — Māna: conceit)
14. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา — Atimāna: excessive conceit; contempt)
15. มทะ (ความมัวเมา — Mada: vanity)
16. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ — Pamāda: heedlessness; negligence; indolence)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อภิปรายกันว่า “จิตประภัสสร” คืออะไร ก็นับว่าดี
: แต่พยายามปฏิบัติเพื่อให้จิตประภัสสร ดีที่สุด
#บาลีวันละคำ (4,223)
4-1-67
…………………………….
…………………………….