บาลีวันละคำ

พระปางสะดุ้งมาร (บาลีวันละคำ 4,225)

พระปางสะดุ้งมาร

ไม่ใช่ชื่อพระ แต่เป็นชื่อปางของพระ

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ฟังคนพูดว่า “พระปางสะดุ้งมารเป็นชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” 

ขอถือโอกาสบอกให้ทราบว่า คำว่า “พระปางสะดุ้งมาร” ไม่ใช่ “เป็นชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” แต่เป็นคำเรียกพระพุทธรูปปางหนึ่ง

“ชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” อย่างเช่น –

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” เป็นชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง

“พระพุทธชินราช” เป็นชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง

“พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เป็นชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง

คำว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” “พระพุทธชินราช” “พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เป็นชื่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

แต่ไม่มีพระพุทธรูปองค์ไหนมีชื่อว่า “พระปางสะดุ้งมาร”

คำว่า “พระปางสะดุ้งมาร” เป็นคำเรียกพระพุทธรูปปางหนึ่ง

คำว่า “ปาง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า “ท่าของพระพุทธรูปที่แสดงถึงอิริยาบถต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปปางห้ามญาติ”

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ

“พระพุทธชินราช” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

“พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา

คำว่า “พระปางสมาธิ” “พระปางมารวิชัย” “พระปางลีลา” จึงไม่ใช่ชื่อพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง แต่เป็นคำเรียกชื่อ “ปาง” ของพระพุทธรูปองค์นั้น ๆ

“พระปางสะดุ้งมาร” หมายถึงพระพุทธรูปปางอะไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “สะดุ้งมาร” บอกไว้ว่า –

สะดุ้งมาร : (ภาษาปาก) (คำนาม) เรียกพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือ ปางชนะมาร ว่า พระสะดุ้งมาร.”

และที่คำว่า “มารวิชัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มารวิชัย : (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ ว่า พระปางมารวิชัย, พระปางชนะมาร หรือ พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก. (ป.).”

เป็นอันว่า “พระปางสะดุ้งมาร” ก็คือพระปางมารวิชัย

คำว่า “มารวิชัย” อ่านว่า มา-ระ-วิ-ไช ประกอบด้วย มาร + วิชัย

(๑) “มาร

บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ

: มรฺ + = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้ 

(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย

สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาร, มาร– : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”

(๒) “วิชัย

บาลีเป็น “วิชย” อ่านว่า วิ-ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)

: วิ + ชิ = วิชิ > วิเช > วิชย + = วิชย แปลตามศัพท์ว่า “การชนะอย่างวิเศษ” หมายถึง ชัยชนะ; ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต (victory; conquering, mastering; triumph over)

มาร + วิชย = มารวิชย > มารวิชัย แปลว่า “การชนะมารอย่างวิเศษ

ขยายความ :

เว็บไซต์ mgronline คอลัมน์ เรื่องเก่า เล่าสนุก โดย โรม บุนนาค (อ่านเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 เวลา 20:30 น.) เล่าถึงที่มาของคำว่า “สะดุ้งมาร” ไว้ดังนี้ –

…………..

          ส่วน “ปางสะดุ้งมาร” ที่มีกล่าวกันอยู่หลายแห่งนั้น ไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในตำราปางพระพุทธรูปต่าง ๆ เลย แต่ก็มีเรื่องเล่าถึงที่มากันไว้ว่า

          ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศรวิยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงให้กำเนิดพระกริ่งและพระกริ่งปวเรศ ได้เสด็จไปเยือนพิพิธภัณฑสถาน และเมื่อทรงเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งมีพระพักตร์ไม่งาม ก็ตรัสด้วยพระอารมณ์ขันว่า “พระองค์นี้คงจะสะดุ้งมาร”

          ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้เสด็จไปตรวจพิพิธภัณฑ์ และทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีพระพักตร์ไม่งาม จึงตรัสขึ้นว่า “องค์นี้พระสะดุ้งมารนี่” ต่อมา หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ หัวหน้ากองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ได้ทำบัตรติดพระพุทธรูปไว้ว่าเป็นปางไหน จึงพาซื่อเขียนป้ายติดองค์ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงเคยตรัสไว้ว่า “ปางสะดุ้งมาร” ครั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงมาเห็นป้าย จึงเล่าเรื่องความเป็นมาของ “พระปางสะดุ้งมาร” ให้หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ทราบ และปรับเป็นเงิน ๑ บาทใส่ตู้บำรุงพิพิธภัณฑ์

…………..

สรุปว่า คำว่า “สะดุ้งมาร” เป็นคำที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ขัน ผู้คิดคำนี้ไม่ได้มีเจตนาจะให้เป็นคำที่เรียกกันจริงจังแต่ประการใด แต่ผู้คนกลับจำเอาไปเรียกกันแพร่หลาย และเรียกกันติดปากยิ่งกว่าคำว่า “มารวิชัย” อันเป็นชื่อปางอย่างเป็นทางการเสียอีก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เข้าใจผิดทุกวาร ก็ “สะดุ้งมาร” ทุกวัน

: เข้าใจถูกเมื่อใด ก็ “มารวิชัย” เมื่อนั้น

#บาลีวันละคำ (4,225)

6-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *