บาลีวันละคำ

ไภษัชคุรุ (บาลีวันละคำ 4,224)

ไภษัชคุรุ

ครูยา

อ่านว่า ไพ-สัด-ชะ-คุ-รุ

ประกอบด้วยคำว่า ไภษัช + คุรุ 

(๑) “ไภษัช

เป็นรูปคำสันสกฤต อ่านว่า ไพสัด ตรงกับบาลีว่า “เภสชฺช” อ่านว่า เพ-สัด-ชะ รากศัพท์มาจาก ภิสช + ณฺย ปัจจัย 

(ก) “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก – 

(1) ภิสฺ (ธาตุ = เยียวยา) + ปัจจัย

: ภิสฺ + = ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เยียวยา” 

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺ (ธาตุ = แจกแจง) + (อะ) ปัจจัย, แปลง วิ เป็น ภิ 

: วิ + สชฺ = วิสชฺ + = วิสช > ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คลี่คลายโรค” 

ภิสช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอยา, แพทย์ (a physician) 

(ข) ภิสช + ณฺย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ภิ-(สช) เป็น เอ (ภิสช > เภสช), แปลง กับ ณฺย เป็น ชฺช 

: ภิสช + ณฺย = ภิสชณฺย > เภสชณฺย > เภสชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” (สิ่งที่หมอใช้แก้หรือป้องกันโรค) หมายถึง โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา (a remedy, medicament, medicine)

บาลี “เภสชฺช” ภาษาไทยใช้เป็น “เภสัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เภสัช, เภสัช– : (คำนาม) ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “เภสชฺช” สันสกฤตเป็น “ไภษชฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “ไภษชฺย” ไว้ (ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก!) แต่เก็บคำว่า “เภษช” บอกไว้ดังนี้ –

เภษช : (คำนาม) ‘เภษัช,’ ยาบำบัดโรค; remedy, a drug, a medicament.”

บาลี “เภสชฺช” แปลงตามรูปสันสกฤตเป็น “ไภษชฺย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ไภษัชย์” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

ไภษัชย์ : (คำนาม) เภสัช, ยาแก้โรค. (ส.; ป. เภสชฺช).”

แถม :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เภสัช” ไว้ดังนี้ –

เภสัช : ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔, เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ ๑. สัปปิ เนยใส ๒. นวนีตะ เนยข้น ๓. เตละ น้ำมัน ๔. มธุ น้ำผึ้ง ๕. ผาณิต น้ำอ้อย; ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็น ยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต.” 

(๒) “คุรุ

คำบาลียุคแรกเป็น “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น” 

(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

ครุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ครุ” = หนัก, สำคัญ และ “ครู” = ครู

คำบาลี “ครุ” ในยุคหลังใช้เป็น “คุรุ” ซึ่งตรงกับรูปคำสันสกฤต = คุรู

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “คุรู” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

คุรู : (คำวิเศษณ์) หนัก, มีน้ำหนัก; มหัต (=มหันต์), ใหญ่; ยาก, ลำบาก; สำคัญ; มาก, ยิ่ง; ดียิ่ง, วิเศษ, เลิศ; ควรบูชา, ควรเคารพ; แพง, มีค่า, มีราคาสูง; ‘ครุ,’ ออกเสียงหนักหรือยาว; heavy, weighty; great; difficult, arduous; important; much, excessive; best, excellent; venerable, respectable; dear, valuable, highly, prized; accented, long (as a foot or vowel);- (คำนาม) สระเสียงยาว ( =สองมาตร์หรือสองเสียงธรรมดา); ครู, ผู้สั่งสอน, ผู้บอกธรรมให้แก่ศิษย์, คำว่า ‘ศาสตฤ, อุปาธยาย, อาจารย์’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; พฤหัสบดี, ผู้อาจารย์ของเทพดาทั้งหลาย; บิดาหรือญาติผู้ชายคนใดคนหนึ่งซึ่งควรบูชา; ครู, ท่านครู, ขรัว, ท่านขรัว; a teacher, a spiritual or religious teacher; Vṛihaspati, the preceptor of the gods; a father or any venerable male relation.”

ไทยเรารู้จักคำว่า “คุรุ” มาพร้อม ๆ กับ “ครุ” และเราเลือกใช้ว่า “ครู” 

ฝรั่งเพิ่งมาเห่อคำว่า “คุรุ” เมื่อไม่นานมานี้ แต่ออกเสียงว่า “กูรู” ไทยที่เห่อฝรั่งก็พากันใช้คำว่า “กูรู” ไปด้วย เหมือนกับไม่เคยมี “ครู

คุรุ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คุรุ : (คำนาม) ผู้สั่งสอน, ครู. (ป., ส.).” 

ไภษัช + คุรุ = ไภษัชคุรุ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ไภษัชคุรุ : (คำนาม) พระนามพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน; ชื่อพระกริ่ง.”

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ไภษัชคุรุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดอย่างนี้ แต่คำนี้ที่พบเขียนกันทั่วไปสะกดเป็น “ไภษัชยคุรุ” (มี –– ด้วย)

พจนานุกรมฯ ไม่มีคำว่า “ไภษัช” ที่เป็นคำเดี่ยว ๆ มีแต่ “ไภษัชคุรุ” (ไม่มี –-) ส่วนที่เป็น “ไภษัชย” (มี –– ด้วย) พจนานุกรมฯ ก็เก็บไว้เป็น “ไภษัชย์” (การันต์ที่ –ย์) แต่ที่เป็น “ไภษัชยคุรุ” (มี –– และมี “คุรุ” ต่อท้าย) พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้

สรุปว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 –

ไม่มี “ไภษัชยคุรุ” แต่มี “ไภษัชย์

ส่วนที่มี “คุรุ” ต่อท้าย ก็เป็น “ไภษัชคุรุ” ไม่ใช่ “ไภษัชยคุรุ

เว็บไซต์กรมศิลปากร หัวข้อ “เล่าเรื่องประติมานวิทยา: ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภา” นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้เขียน มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………..

          พระพุทธเจ้าสูงสุดทางการแพทย์และโอสถ ในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน พระนามหมายถึง บรมครูแห่งโอสถ (รักษาโรค) ผู้มีรัศมีดุจไพฑูรย์ (มณีสีน้ำเงิน-lapis lazuli) พระนามอื่น ๆ คือ เภษัชราชา (Bheṣajarāja) ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต (Bhaiṣajyaguruvaiḍūryaprabhātathāgata) ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชา (Bhaiṣajyaguruvaiḍūryaprabhārāja) ผู้ปลดเปลื้องมนุษย์จากโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมานต่าง ๆ …

          รูปเคารพโดยทั่วไปของพระไภษัชยคุรุ มีลักษณะดังพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือครองจีวรแบบนักบวช พร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ วรรณะสีน้ำเงินหรือสีทอง ประทับขัดสมาธิเพชรบนบัลลังก์สิงห์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ธยานมุทรา dhayanamudrā) ถือบาตร (patra) บรรจุโอสถ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชงฆ์ (วรทมุทรา Varadamudrā) ถือยาสมุนไพร หรือขวดบรรจุยา …

https://www.finearts.go.th/promotion/view/14160-

…………..

นำคำว่า “ไภษัชคุรุ” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำเป็นข้อมูลเบื้องต้น เมื่อเห็นคำนี้จะได้พอมีความรู้ว่าหมายถึงอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้สรรพคุณยามากแค่ไหน ก็ไม่ทำให้โรคหายดี

: ลงมือใช้ยาให้ถูกวิธีนั่นแหละจึงจะหายจากโรค

: รู้ธรรมะมากแค่ไหน ก็ไม่ทำให้หมดกิเลส

: ปฏิบัติขัดเกลาตัวเองเป็นพิเศษนั่นแหละจึงจะบรรลุธรรม

#บาลีวันละคำ (4,224)

5-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *