กรรม กับ กิริยา (บาลีวันละคำ 609)
กรรม กับ กิริยา
ในลีลาแห่งบาลี
มีคำถามว่า “กรรม” กับ “กิริยา” ต่างกันอย่างไร ?
“กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กรรม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย –
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กิริยา” รากศัพท์เดียวกับ “กมฺม–กรรม” แต่กระบวนการทางไวยากรณ์ต่างกัน คือ กร + ณฺย ปัจจัย –
: กร > กิร + อิ = กิริ + ณฺย > ย = กิริย > กิริยา
“กิริยา” แปลว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป (action, performance, deed; the doing)
“กรรม” กับ “กิริยา” ความหมายตามรากศัพท์ไม่ต่างกัน ข้อที่ต่างกันมีดังนี้ –
1. ตามความนิยมในภาษาบาลี
– กรรม : หมายถึงการกระทำทั่วไป, การทำงาน, การกระทำที่ก่อผลดีชั่วในจิตใจ ที่เรียกว่าบุญบาป
– กิริยา : หมายถึงการกระทำทั่วไป ไม่นิยมใช้ในความหมายถึงตัวบุญบาป (ทำบุญ เรียกว่า “บุญกิริยา” ได้ แต่ตัวบุญที่ทำนั้นเรียกว่า “กรรม”)
2. ตามหลักธรรม
– การกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ก่อให้เกิดวิบาก เป็น “กรรม” (คือผู้ทำจะต้องได้เสวยผลเป็นสุขทุกข์อันเกิดตามมาจากการกระทำนั้น)
– การกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่ก่อวิบาก เช่นการกระทำของพระอรหันต์ เป็น “กิริยา” แต่ไม่เป็น “กรรม” (คือผู้ทำจะไม่ได้เสวยผลเป็นสุขทุกข์อันเกิดตามมาจากการกระทำนั้น)
ตัวอย่าง :
– ตั้งใจตบยุงตาย เป็น “กรรม” (ผู้ทำต้องได้รับผล)
– เอามือลูบไปตามตัวตามปกติ ไปถูกยุงตาย เป็น “กิริยา” (ผู้ทำไม่ต้องรับผล)
3. ตามหลักไวยากรณ์
กรรม : ผู้ถูกกระทํา เช่น “คนกินข้าว” “ข้าว” เป็นกรรมของกิริยา “กิน”
กิริยา : คําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม เช่น “คนกินข้าว” “กิน” เป็นกิริยาของนามคือ “คน”
หมายเหตุ : ในภาษาไทย คำ “กิริยา” ในไวยากรณ์ ใช้ว่า “กริยา” แต่ในไวยากรณ์บาลีใช้ว่า “กิริยา”
: ไม่ว่าจะกิริยาหรือกรรม รู้ว่าชั่วแล้วอย่าทำ – ดีที่สุด
———————-
(แยกแยะตามประสงค์ของพระคุณท่าน Sunant Pramaha)
15-1-57