พ พาน ในบาลี = B อักษรโรมัน (บาลีวันละคำ 4,232)
พ พาน ในบาลี = B อักษรโรมัน
ถ้าให้เขียนคำบาลีที่ขึ้นต้นด้วย พ พาน เป็นอักษรโรมัน (กรุณาอย่าพูดผิด ๆ ว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ”) เช่นคำว่า “พุทธะ” เขียนเป็นอักษรโรมัน คนไทยส่วนมากจะเขียนว่า putta
คือ “พุท” เขียนเป็น put
“ธะ” เขียนเป็น ta
โปรดทราบเป็นหลักความรู้ว่า พ พาน ในคำบาลี นักเรียนบาลีทั่วโลกตกลงกันว่า ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมันให้ใช้ตัว B/b
ท ทหาร ให้ใช้ตัว D/d
ธ ธง ให้ใช้ตัว Dh/dh
ดังนั้น “พุทธะ” จึงเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Buddha ไม่ใช่ putta
putta ถ้าเป็นคำบาลี ก็ตรงกับ “ปุตฺต” (ปุด-ตะ) ที่ภาษาไทยใช้ว่า “บุตร”
ภ สำเภา ในภาษาบาลี อักษรโรมันใช้ตัว Bh/bh
เช่นคำว่า “นภา” ที่แปลว่า ท้องฟ้า เขียนเป็นอักษรโรมันว่า nabhā ไม่ใช่ napā
napā ถ้าเป็นคำบาลี ต้องอ่านว่า นะ-ปา ไม่ใช่ นะ-ภา
การเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมันมีกฎเกณฑ์ไม่ซับซ้อน ศึกษาให้เข้าใจหรือจำไว้ให้ได้ ก็เขียนถูกทันที
แถม :
อักขรวิธีในการเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมัน (ที่มักเรียกกันผิดๆ ว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ”) ตามที่นักเรียนบาลีทั่วโลกตกลงตรงกัน เป็นดังนี้ –
(1) พยัญชนะวรรค
วรรค ก (อ่านว่า วรรค กะ ไม่ใช่วรรค กอ พยัญชนะทุกตัวออกเสียง อะ ไม่ใช่ ออ)
ก = K/k
ข = Kh/kh
ค = G/g
ฆ = Gh/gh
ง = ng (มีเฉพาะตัวตามหรือตัวสะกด)
วรรค จ
จ = C/c
ฉ = Ch/ch
ช = J/j
ฌ = Jh/jh
ญ = Ñ/ñ
วรรค ฏ (ฏ ปฏัก ไม่ใช่ ฎ ชฎา)
ฏ = Ṭ/ṭ
ฐ = Ṭh/ṭh
ฑ = Ḍ/ḍ
ฒ = Ḍh/ḍh
ณ = ṇ (มีเฉพาะตัวตามหรือตัวสะกด)
วรรค ต
ต = T/t
ถ = Th/th
ท = D/d
ธ = Dh/dh
น = N/n
วรรค ป
ป = P/p
ผ = Ph/ph
พ = B/b
ภ = Bh/bh
ม = M/m
(2) พยัญชนะอวรรค (อะ-วัก) คือไม่มีวรรคหรือไม่จัดเป็นวรรค มี 8 ตัว โปรดสังเกตว่า อํ (อ่านว่า อัง) ท่านจัดเป็นพยัญชนะด้วย
ย = Y/y
ร = R/r
ล = L/l
ว = V/v
ส = S/s
ห = H/h
ฬ = Ḷ/ḷ
อํ = Aŋ/aŋ
(3) สระ มี 8 ตัว
อะ = A/a
อา = Ā/ā
อิ = I/i
อี = Ī/ī
อุ = U/u
อู = Ū/ū
เอ = E/e
โอ = O/o
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เขียนผิดก็ไม่ตกนรก
: แต่ไม่ตกนรกด้วย เขียนถูกด้วยดีกว่า
#บาลีวันละคำ (4,232)
13-1-67
…………………………….
…………………………….