บาลีวันละคำ

วัดป่า (บาลีวันละคำ 4,233)

วัดป่า

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “วัดป่า” เทียบเป็นคำบาลีว่า “อรัญญิกาวาส” อ่านว่า อะ-รัน-ยิ-กา-วาด ประกอบด้วยคำว่า อรัญญิก + อาวาส 

(๑) “อรัญญิก

แยกศัพท์เป็น อรัญญ + อิก ปัจจัย

(ก) “อรัญญ” เขียนแบบบาลีเป็น “อรญฺญ” อ่านว่า อะ-รัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป) + อญฺญ ปัจจัย

: อรฺ + อญฺญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้คน

(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ซ้อน ญฺ

: อรฺ + ญฺ + = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถึงกัน

(3) (คำนิบาต = ไม่มี, ไม่ใช่) + ราช (พระราชา), แปลง เป็น , รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ที่ (ราช > ) รช เป็น ญฺ (รช > รญ), ซ้อน ญฺ 

: + ราช = นราช > อราช > อรช > อรญ + = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไม่มีพระราชา

อรญฺญ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ป่า (forest)

(ข) อรญฺญ + อิก ปัจจัย

: อรญฺญ + อิก = อรญฺญิก (อะ-รัน-ยิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “-อันมีอยู่ในป่า” หมายถึง ผู้ที่อยู่ป่า, สิ่งที่เกิด หรือมี หรือสร้างไว้ในป่า (belonging to the forest, living in the forest)

อรญฺญิก” ในภาษาไทยเขียนเป็น “อรัญญิก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรัญญิก : (คำนาม) ป่า, บริเวณป่า, โบราณเขียนเป็น อรญญิก หรือ อไรญิก ก็มี เช่น ในกลางอรญญิก, เมืองสุโขทัยนี้มีอไรญิก. (จารึกสยาม), (คำโบราณ) วัดอรัญญิก เช่น ไปสูดญัดกฐินเถิงอไรญิกพู้น. (จารึกสยาม). (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับป่า เช่น อรัญญิกาวาส. (ป. อารญฺญก ว่า เกี่ยวกับป่า).”

ข้อสังเกต:

ถ้าหมายถึงตัว “ป่า” ตรง ๆ บาลีใช้คำว่า “อรญฺญ” (อะ-รัน-ยะ) แต่เมื่อปรุงรูปศัพท์เป็น “อรญฺญิก” (อรัญญิก) ในบาลีจะไม่หมายถึง “ป่า” ตรง ๆ แต่จะหมายถึง “-อันมีอยู่ในป่า” เช่น ของป่า คนที่อยู่ในป่า วัดที่สร้างไว้ในป่า เป็นต้น

(๒) “อาวาส

บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย

ทบทวนหลักการทางไวยากรณ์ของ ปัจจัย :

(1) ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย (เช่น เณ ณฺย) ลงแล้ว “ลบ ณ ทิ้งเสีย” 

(2) มีอำนาจ “ทีฆะต้นธาตุ” คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วสฺ ธาตุ “” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา” 

: อา + วสฺ = อาวสฺ + = อาวสณ > อาวส > อาวาส แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” หมายถึง การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อาวาส” ไว้ดังนี้ –

อาวาส : (คำนาม) วัด เช่น เจ้าอาวาส ที่อยู่ เช่น พุทธาวาส (พุทธ + อาวาส) คือ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หมายถึง โบสถ์ วิหาร สังฆาวาส (สังฆ + อาวาส) คือ ที่อยู่ของพระสงฆ์; ผู้ครอบครอง เช่น ฆราวาส (ฆร + อาวาส) คือ ผู้ครอบครองเรือน หรือผู้อยู่ครองเรือน. (ป., ส.).”

ตามหลักเดิมอันถือกันว่าเป็นมาตรฐานกลาง ท่านแบ่งผังอาวาสเป็น 3 เขต ตามแนวแห่งพระรัตนตรัย คือ –

1 เขตที่มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระธาตุ เรียกว่า “พุทธาวาส

2 เขตที่มีศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เรียกว่า “ธัมมาวาส

3 เขตที่เป็นกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ เรียกว่า “สังฆาวาส

อรญฺญิก + อาวาส = อรญฺญิกาวาส (อะ-รัน-ยิ-กา-วา-สะ) แปลว่า “อาวาสอันมีอยู่ในป่า” “ที่อยู่อันมีอยู่ในป่า”  

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำที่มีความหมายอย่างเดียวกับว่า “อรญฺญิกาวาส” ดังนี้ –

(1) “อรญฺญกุฏิกา” แปลว่า a hut in the forest, a forest lodge (กระท่อมในป่า, เรือนพักในป่า)

(2) “อรญฺญฐาน” แปลว่า a place in the forest (สถานที่ในป่า)

(3) “อรญฺญวาส” แปลว่า a dwelling in the forest, a hermitage (การอาศัยอยู่ในป่า, ที่พักอาศัยในป่า, อาศรมหรือกุฏิของฤๅษี)

(4) “อรญฺญวิหาร” แปลว่า living in the loneliness [of the forest] (การอยู่ในป่า, วิหารซึ่งตั้งอยู่ในป่า)

อรญฺญิกาวาส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อรัญญิกาวาส” (อะ-รัน-ยิ-กา-วาด)

ขยายความ :

อรัญญิกาวาส” แปลตรงตัวว่า “วัดป่า

ที่คำว่า “อรัญญิก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ตอนหนึ่งว่า “(คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับป่า เช่น อรัญญิกาวาส”

พจนานุกรมฯ ยกคำว่า อรัญญิกาวาส” เป็นตัวอย่าง แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “อรัญญิกาวาส” ไว้เป็นคำตั้ง

วัดป่า” หรือ “อรัญญิกาวาส” หรือบางทีเรียกทับศัพท์ว่า “วัดอรัญญิก” เป็นคำเรียกวัดแบบหนึ่ง เลือกสร้างไว้ในป่า คือสถานที่อันพ้นไปจากเขตบ้านเขตเมือง เข้าใจว่าเป็นคำที่เรียกเทียบกับ “วัดบ้าน” ซึ่งหมายถึงวัดที่สร้างไว้ในเขตบ้านเขตเมือง ออกจากรั้ววัดหรือกำแพงวัดไปไม่กี่ก้าวก็เป็นบ้านคน ปัจจุบันนี้กำแพงวัดกับบ้านคนอยู่ติดกันเลยก็มีให้เห็นทั่วไป 

เมื่อไปสร้างวัดไว้นอกเขตบ้านเขตเมืองดังว่านี้ ก็จึงเรียกชัด ๆ ว่า “วัดป่า” เพื่อให้ต่างกับ “วัดบ้าน

คำว่า “วัดป่า” นี้ มีความหมายพาดพิงไปถึงพระสงฆ์ 2 จำพวก คือจำพวกพักอาศัยในละแวกบ้าน มีคำเรียกว่า “คามวาสี” (คา-มะ-วา-สี) ซึ่งแปลได้ว่า “พระบ้าน” และจำพวกพักอาศัยในป่า มีคำเรียกว่า “อรัญวาสี” (อะ-รัน-ยะ-วา-สี) ซึ่งแปลได้ว่า “พระป่า

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อรัญวาสี” อธิบายไว้ตอนหนึ่ง ว่าดังนี้ –

…………..

            สันนิษฐานว่า เมื่อเวลาล่วงผ่านห่างพุทธกาลมานาน พระภิกษุอยู่ประจำที่มากขึ้น อีกทั้งมีภาระผูกมัดตัวมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเล่าเรียนและทรงจำพุทธพจน์ในยุคที่องค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ซึ่งจะต้องรักษาไว้แก่คนรุ่นหลังให้ครบถ้วนและแม่นยำโดยมีความเข้าใจถูกต้อง อีกทั้งต้องเก็บรวบรวมคำอธิบายของอาจารย์รุ่นต่อ ๆ มา ที่มีเพิ่มขึ้น ๆ จนเกิดเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “คันถธุระ” (ธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์) เป็นภาระซึ่งทำให้รวมกันอยู่ที่แหล่งการเล่าเรียนศึกษาในชุมชนหรือในเมือง พร้อมกันนั้น ภิกษุผู้ไปเจริญภาวนาในป่า เมื่อองค์พระศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็อิงอาศัยอาจารย์ที่จำเพาะมากขึ้น มีความรู้สึกที่จะต้องผ่อนและเผื่อเวลามากขึ้น อยู่ประจำที่แน่นอนมากขึ้น เพื่ออุทิศตัวแก่กิจในการเจริญภาวนา ซึ่งกลายเป็นงานหรือหน้าที่ที่เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” (ธุระในการเจริญกรรมฐานอันมีวิปัสสนาเป็นยอด) โดยนัยนี้ แนวโน้มที่จะแบ่งเป็นพระบ้าน-พระป่าก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

            การแบ่งพระสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย คือ คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นในลังกาทวีป และปรากฏชัดเจนในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (พ.ศ.๑๖๙๖ – ๑๗๒๙) ต่อมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงรับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ลังกาวงศ์ อันสืบเนื่องจากสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุนี้เข้ามาในช่วงใกล้ พ.ศ.๑๘๒๐ ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบ คือ คามวาสี และอรัญวาสี ก็มาจากศรีลังกาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย.

…………..

ในเมืองไทย “วัดป่า” ของเดิมนั้นมักอยู่ในป่าจริง ๆ ไกลจากบ้านคน แต่ครั้นล่วงกาลผ่านเวลาไป มีบ้านคนไปตั้งแวดล้อมเข้าไปทีละเล็กละน้อย อาจหมดสภาพเป็นวัดป่าไปก็มี แต่แม้กระนั้นก็ยังเรียกกันติดปากว่า “วัดป่า

ถ้าอยากเรียก “วัดป่า” เป็นคำบาลี ก็เรียกว่า “อรัญญิกาวาส” หรือเรียกกึ่งทับศัพท์ว่า “วัดอรัญญิก” (ระวังจะไปพ้องกับชื่อวัดจริง ๆ ที่ชื่อ “วัดอรัญญิก” เข้าก็แล้วกัน)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่วัดบ้านก็ปฏิบัติธรรมได้ทุกเวลา

: แต่ถ้าอยู่วัดป่า อย่าบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม

#บาลีวันละคำ (4,233)

14-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *