บาลีวันละคำ

อายุวัฒนะ (บาลีวันละคำ 4,234)

อายุวัฒนะ

คืออายุเท่าไร

อ่านว่า อา-ยุ-วัด-ทะ-นะ

ประกอบด้วยคำว่า อายุ + วัฒนะ

(๑) “อายุ

อ่านว่า อา-ยุ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : + อุ : > อย + อุ = อยุ)

: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

(๒) “วัฒนะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “วฑฺฒน” อ่านว่า วัด-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก วฑฺฒฺ (ธาตุ = เจริญ, เพิ่มขึ้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: วฑฺฒฺ + ยุ > อน = วฑฺฒน แปลตามศัพท์ว่า “การเจริญ” หมายถึง การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป (increasing, augmenting, fostering; increase, enlargement, prolongation) ความหมายที่เราคุ้นกันก็คือ “ความเจริญ

บาลี “วฑฺฒน” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยม ใช้เป็น “วัฒน-” (วัด-ทะ-นะ-, มีคำอื่นสมาสท้าย) หรือ “วัฒน์” (วัด, อยู่ท้ายคำ) หรือ “วัฒนะ” 

อายุ + วฑฺฒน = อายุวฑฺฒน (อา-ยุ-วัด-ทะ-นะ-) แปลว่า “ความเจริญอายุ” หมายถึง การมีอายุยืน

อายุวฑฺฒน” ใช้ในภาษาไทยในที่นี้เป็น “อายุวัฒนะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อายุวัฒนะ : (คำนาม) เรียกยาที่ถือว่ากินแล้วมีอายุยืนว่า ยาอายุวัฒนะ. (ป.).”

ขยายความ :

ความหมายของ “อายุวัฒนะ” คือ “มีอายุยืน” แต่อายุเท่าไรจึงจะถือว่าอายุยืน ยังไม่เคยเห็นคำจำกัดความ

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถามีเรื่องเด็กคนหนึ่ง เมื่อเกิดมามีนักทำนายบอกว่าจะอายุไม่ยืน พ่อแม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะแก้ไขอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้นิมนต์พระไปนั่งล้อมเตียงเจริญพระปริตรติดต่อกัน 7 วันไม่หยุดเลย วันที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จไปด้วยพระองค์เอง เมื่อเสร็จการแล้วตรัสแก่เด็กนั้นว่า “ทีฆายุโก โหหิ” (จงอายุยืนเถิด) พ่อแม่ทูลถามว่า เด็กจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ตรัสว่า “120 ปี” พ่อแม่จึงตั้งชื่อลูกว่า “อายุวัฑฒนกุมาร” (ที่มา: อายุวัฑฒนกุมารวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 4 หน้า 113-116)

…………..

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=18&p=8

…………..

ถ้าถือตามเรื่องนี้ กำหนดที่ควรถือได้ว่า “อายุวัฒนะ” ก็คือ 120 ปี

มีเรื่องที่น่าคิดคือ ทุกวันนี้มีผู้นิยมจัดงานฉลองอายุโดยเรียกชื่องานว่า “อายุวัฒนมงคล” แต่ไม่มีกำหนดว่า อายุเท่าไรจึงสมควรที่จะจัดงานฉลองอายุ บางรายอายุ 37 ก็จัดงานอายุวัฒนมงคลกันแล้ว

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงธรรมเนียมการรดน้ำสงกรานต์ของไทยเรา ที่ถือเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะนั่งให้คนอื่นรดน้ำได้ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่ำกว่า 60 ไม่มีธรรมเนียมให้คนอื่นรดน้ำ

ธรรมเนียมนี้สอดคล้องกับธรรมเนียม “แซยิด” คือวันที่มีอายุครบ 5 รอบนักษัตร คือ 60 ปีบริบูรณ์ตามคติของจีน เรียกการทำบุญในวันเช่นนั้นว่า ทำบุญแซยิด

“ทำบุญแซยิด” นั่นเองคือทำบุญ “อายุวัฒนมงคล

ถ้าไม่ถือเกณฑ์อะไรไว้สักอย่างหนึ่ง จัดงาน “อายุวัฒนมงคล” กันได้ทุกอายุ ต่อไปคนอายุยังไม่ถึง 60 ก็คงไปนั่งให้คนอื่นรดน้ำสงกรานต์กันได้ทั่วไป ต่อไปเราคงได้เห็นผู้ใหญ่รดน้ำสงกรานต์ให้เด็กกันบ้างเป็นแน่

แถม :

ในคัมภีร์ธรรมบทมีคาถาบทหนึ่งแสดงเหตุให้มีอายุยืน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น “อายุวัฒนะ” ตามตำราของพระพุทธเจ้า 

คาถาบทนั้นว่าดังนี้ –

…………..

เขียนแบบบาลี:

อภิวาทนสีลิสฺส

นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน 

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ

อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.

เขียนแบบไทย:

อะภิวาทะนะสีลิสสะ 

นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร  ธัมมา  วัฑฒันติ 

อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง.

คำแปล:

บุคคลผู้มีปรกติไหว้กราบ

มีปรกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ 

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ที่มา: สหัสสวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 18

…………..

ผู้ที่อยากมีอายุยืน จะแสวงหายา “อายุวัฒนะ” ขนานใด ๆ มากินมาใช้ หรือแสวงหาวิธีบริหารร่างกายแบบใด ๆ มาปฏิบัติ ย่อมสามารถทำได้ตามความเชื่อหรือตามแต่ใจจะปรารถนา 

แต่ถ้าไม่รังเกียจ จะลองนำเอายา “อายุวัฒนะ” ตำรับพระพุทธเจ้าไปใช้ดูบ้าง ก็คงไม่เสียหายแต่ประการใด

…………..

ดูก่อนภราดา!

ยาอายุวัฒนะของพระพุทธเจ้าก็คือ –

อภิวาทนสีลี: มีมือที่พนมแก่คนทั้งสิบทิศ

นิจฺจวุฑฺฒาปจายี: มีกายวาจาจิตอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ตลอดกาล

#บาลีวันละคำ (4,234)

15-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *