อธิกรณ์ (บาลีวันละคำ 973)
อธิกรณ์
อ่านว่า อะ-ทิ-กอน
บาลีเป็น “อธิกรณ” อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-ระ-นะ
ประกอบด้วย อธิ + กรณ
“อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน
“กรณ” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ] ประกอบท้ายธาตุที่ลงท้ายด้วย ร ให้แปลง น เป็น ณ
: กร + ยุ > อน > อณ = กรณ
อธิ + กรณ = อธิกรณ แปลตามศัพท์ว่า “กระทำยิ่ง” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ :
(1) การเอาใจใส่หรือติดตาม, การดูและควบคุม, การปกครองหรือบริหาร (attendance, super-vision, management of affairs, administration)
(2) การเกี่ยวข้อง, การอ้างถึง, เหตุผล, ต้นเหตุ, ผลที่เกิดภายหลัง relation, reference, reason, cause, consequence)
(3) กรณี, ปัญหา, ชนวน, เรื่องที่พิจารณาถึง (case, question, cause, subject of discussion, dispute)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ) ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อธิกรณ์” เป็นภาษาอังกฤษว่า –
a case; question; affair; lawsuit; dispute; disciplinary case of dispute; regal process; regal question.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “อธิกรณ์” ไว้ว่า –
อธิกรณ์ : เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี 4 อย่าง คือ –
1. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
2. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
3. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
4. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน,
ในภาษาไทยอธิกรณ์มีความหมายเลือนลางลงและแคบเข้า กลายเป็น คดีความ โทษ เป็นต้น
………
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธิกรณ์ : (คำนาม) เหตุ, โทษ, คดี, เรื่องราว. (ป., ส.).”
: ถ้าฝ่ามือไม่มีแผล ไม่ต้องกลัวแพ้อธิกรณ์
: แต่ถ้าฝ่ามือมีแผล แพ้ตั้งแต่ยังไม่เกิดอธิกรณ์
#บาลีวันละคำ (973)
16-1-58